รัฐสภา 24 ต.ค.- กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ หารือคดีตากใบจะหมดอายุความพรุ่งนี้ “ภูมิธรรม” มอบ “แม่ทัพภาค 4” มาแทน อ้างติดภารกิจ ร่วมประชุมได้ไม่นาน ส่วนเลขาฯ สมช. มาตามนัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาศึกษา และวิเคราะห์กรณีคดีตากใบกับการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ และการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเชิญนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่กำกับดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มาชี้แจง
โดยก่อนการประชุม ตัวแทนเครือข่าย The Patani และ 45 องค์กร ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงประธานในที่ประชุม ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
- 1.ขอให้นายกรัฐมนตรีกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้
- 2.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามหมายศาล โดยกำชับไปยังพนักงานปกครอง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้
- 3.ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามหมายศาล โดยกำชับไปยังสถานีตำรวจทุกแห่ง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ตุลาคม 2567
- 4.ขอให้คณะกรรมมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศึกษากรณีที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางสร้างสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง ในการแก้ไขปัญหาตากใบและปัญหาอื่น ๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
- 5.หากรัฐล้มเหลวในการนำตัวจำเลยขึ้นสู่ศาล ซึ่งจะเป็นตราบาปหนึ่ง แต่รัฐบาลยังสามารถดำเนินการต่อไปด้วยกลไกอื่นได้ เช่น ขอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริง มีอำนาจหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการ Truth and Reconciliation ของแอฟริกาใต้ แต่ในขอบเขตที่แคบกว่ามาก
เนื่องจากสามารถเชิญจำเลยทั้ง 7 และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นอดีตข้าราชการ มาให้ความจริงแก่คณะกรรมการฯ ว่า มีบทบาทอย่างไรในกรณีตากใบ เป็นสักขีพยานในเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นบ้าง หากยอมรับว่าได้กระทำความผิด ก็สามารถขอโทษและชดเชยต่อผู้ถูกกระทำหรือต่อญาติผู้ถูกกระทำได้
สำหรับกรณีที่จำเลยผู้ใดไม่ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการอิสระฯ คณะกรรมการฯ สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณางดเงินบำนาญหรือดำเนินการถอดยศจำเลยผู้นั้นได้ และขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้หน่วยราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบ ในการจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยอาจรวมถึงพิธีละหมาดฮายัดเพื่อขอพรและขอสันติสุข ทั้งนี้ สามารถปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการจัดหาสถานที่ และการจัดให้มีสัญลักษณ์ที่เหมาะสมด้วย
จากนั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ขอบคุณตัวแทนกลุ่มที่มายื่นหนังสือโดยก่อนหน้านี้คณะกรรมธิการได้ออกหนังสือ และรัฐบาลให้เร่งรัดนำตัวจำเลยมาดำเนินคดีให้ทันในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ พร้อมทั้งยังให้เหตุผลว่าหากนำตัวจำเลยมาดำเนินคดีไม่ทัน จะส่งผลต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ ซึ่งทางคณะกรรมการธิการ จะนำข้อเสนอ และเนื้อหาทั้งหมดที่ได้มาเสนอมา ไปเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี และนำมาเป็นแนวทางพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการต่อไป
ต่อมา เมื่อเริ่มการประชุม นายจาตุรนต์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ทางกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง แต่นายภูมิธรรม ติดภารกิจด่วน จึงมอบหมายให้ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาค 4 เข้ามาชี้แจงแทน และเนื่องจาก พล.ท.ไพศาล มีภารกิจต่อจึงชี้แจงเป็นคนแรก นอกจากนี้ยังเชิญเลขาฯ สมช. ซึ่งท่านก็มาด้วยตนเอง และยังมีตัวแทนจาก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้ามาด้วย.-312 -สำนักข่าวไทย