กรุงเวียงจันทร์ 19 ต.ค.- “วันนอร์” นำทีม สส.-สว. ไทย ร่วมประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 45 อย่างเป็นทางการ ณ สปป ลาว พร้อมแลกเปลี่ยนปัญหายาเสพติด-อาชญากรรมข้ามชาติ-ความไม่สงบในเมียนมา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นำคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 45 ณ กรุงเวียงจันทร์ สปป ลาว โดยมีการแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ การร้องเพลงชาติของ สปป ลาว และเพลงไอป้า
นายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ สปป ลาว ในฐานะประธานการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน กล่าวเปิดการประชุม ว่า รู้สึกยินดีที่ สปป ลาว เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม พร้อมขอบคุณ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ ที่มาเปิดงานในวันนี้ ซึ่งการประชุมมีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างไอป้า กับอาเซียน (ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร) ด้วย และช่วงนี้ภูมิภาคอาเซียนเผชิญกับความขัดแย้งในภูมิภาค รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤติการเงิน อีกทั้งยังมีสิ่งที่ไม่คาดคิดที่ต้องเผชิญ แต่เราจะคงไว้ซึ่งหลักการสันติภาพ ความยั่งยืน การแบ่งปันเป้าหมายร่วมกัน เพื่อประชาชนของเรา มุ่งฟื้นเศรษฐกิจให้อาเซียนมีเสถียรภาพ ปราศจากความขัดแย้ง ให้เป็นไปตามแผนแม่บท 3 เสาหลักอาเซียน
ด้าน นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป ลาว กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีให้ทุกคนได้แสดงความเห็น วิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนทัศนะของตนอย่างตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ความร่วมมือในการกำหนดทิศทางต่อไป ทั้งนี้ภายใต้กฎบัตรอาเซียน หรือบรรดาหลักการที่เป็นพื้นฐานที่ได้ยึดถือร่วมกัน พวกเราสามารถเอาความหลากหลายมาทำให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนได้ ในการเป็นภาคพื้นที่มีสันติภาพ เพื่อรับมือกับโลภายนอก นอกจากนี้ อาเซียนเตรียมต้อนรับ ติมอร์เลสเต้ เข้ามาเป็นสมาชิกในอนาคต จึงจะทำให้อาเซียนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สำหรับการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 45 เริ่มมาตั้งแต่ วันที่ 17 ตุลาคม แล้ว โดยมี 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วม ยกเว้นอินโดนีเซีย ที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งไป นอกจากนี้ ยังมี 21 ประเทศ และ 1 องค์กร เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมด้วย
โดยวานนี้(18 ต.ค.) นายวันมูหะมัดนอร์ ได้กล่าวสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการประชุม AIPACODD ไปเป็นการประชุมคณะมนตรีที่ปรึกษาของสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติ (AIPA-ACT) เพราะเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ AIPA สามารถจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันได้ดียิ่งขึ้น แต่ต้องไม่ละเลยปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาคที่ส่งผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงด้วย
ส่วนปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมา ที่ไทยต้องรับภาระเรื่องผู้อพยพ ทางอาเซียนก็จะต้องร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด โดยจะนำเรื่องนี้เข้าพูดคุย แม้จะมีกฎไม่แทรกแซงกิจการภายในก็ตาม .-316 -สำนักข่าวไทย