รัฐสภา 9 ต.ค.-ตำรวจรับจำเลยคดีตากใบ 2 ราย หนีไปต่างประเทศแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีหมายจับ ยืนยันติดตามตัวทุกขั้นตอน พร้อมประสานทุกหน่วยงาน ด้าน “วิทยา” จวกถามกันแบบนี้ไม่ได้ข้อมูล เหตุผู้ที่มาชี้แจงเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นประธาน ซึ่งมีวาระการพิจารณาติดตามผู้ต้องหาคดีตากใบ หลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ฟ้องและออกหมายจับจำเลย 7 คน และอัยการสูงสุดเห็นแย้งกับพนักงานสอบสวน ที่มีคำสั่งส่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน รวมทั้งหมด 14 คน ซ้ำกับจำเลยเดิม 1 คน
โดยในที่ประชุมได้มีตัวแทนจากคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาด้วย นอกจากนี้ยังมีการเชิญ ตัวแทนจากโจทก์และตัวแทนผู้ร้องในคดีดังกล่าว คือ นางพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มาในฐานะตัวแทนโจทก์ในคดี และได้มีการเชิญ กองทัพบก ผู้อำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ ตำรวจภูธรภาค 9 และอัยการภาค 9 โดยแต่ละหน่วยงานได้ส่งตัวแทนมาชี้แจง
นายวิทยา แก้วภราดัย กรรมาธิการ ได้สอบถามว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตม.เกี่ยวกับจำเลย 14 รายแล้วหรือไม่ พ.ต.อ.รังษี มั่นจิตร ตัวแทนจากตำรวจภูธรภาค 9 แจ้งว่าได้มีการส่งหมายจับไปยัง ตม. แล้ว เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลตามหมายจับมีการเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ หากตรวจพบก็จะแจ้งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประสานไปยังตำรวจอินเตอร์โพล
นายกมลศักดิ์ ได้ถามต่อว่า ตม.แจ้งว่า จำเลยทั้ง 14 รายยังไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศใช่หรือไม่ พ.ต.อ.รังษี เนื่องจากการประชุมวันนี้ไม่ใช่การประชุมลับ นายกมลศักดิ์ ยังคงยืนยันในคำถามเดิมโดยมองว่า เป็นข้อมูลที่น่าจะเปิดเผยได้ ไม่ได้ลงในรายละเอียดว่าเดินทางออกเมื่อไหร่ไปที่ใด เพียงอยากรู้ว่ากี่รายเท่านั้นและไม่น่ากระทบกับรูปคดี พ.ต.อ.รังษี จึงชี้แจงเพียงว่ามี 2 ราย แต่ขอสงวนรายชื่อว่าเป็นบุคคลใด
ด้าน น.ส.นิตยา มีศรี สส.พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ สอบถามว่าระหว่างวันที่ 12 กันยายนที่ศาลอนุมัติหมายจับ ไปจนถึงวันที่ 20 กันยายนมีการประสานกับ ตม. ถึงการเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ พ.ต.อ.รังษี ชี้แจงว่าทันทีที่ทราบหมายจับในวันที่ 12 กันยายนได้ประสานไปยัง ตม.ทันที แต่ ตม.แจ้งกลับมาว่ามีคนเดินทางออกนอกประเทศไปก่อน ที่จะมีการออกหมายจับ 2 ราย
ทั้งนี้ได้มีการสอบถามต่อถึงกระบวนการเช็คพิกัดของสัญญาณโทรศัพท์ และการติดตามตัว นอกเหนือจากการบุกค้นบ้านตามทะเบียนบ้าน พ.ต.อ.รังษี ชี้แจงว่าเราไม่ได้เลือกปฏิบัติ ยืนยันว่าเรามีการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถิ่นที่อยู่ หรือบุคคลใกล้ชิด และไม่ได้มุ่งเรื่องโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว แต่ใช้การติดตามข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ทุกอย่าง เชื่อว่าคนร้ายต้องทิ้งร่องรอยไว้อยู่แล้ว เหมือนกับกรณีของแป้งนาโหนด ที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้จึงตามได้
ด้านนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน ในฐานะตัวแทนจากกรรมาธิการความมั่นคงฯ กล่าวว่าสิ่งที่ชี้แจงพยายามจะบอกว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อหลีกเลี่ยง การไม่ปฏิบัติหน้าที่ แต่สิ่งที่สังคม อยากรู้คือผู้ต้องหาทั้ง 14 รายอยู่ที่ไหน จากข้อมูลที่ตนทราบบุคคลที่หนีออกไปนอกประเทศคนหนึ่งอยู่ที่ลอนดอนประเทศอังกฤษ อีกคนอยู่ที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่นใช่หรือไม่ ทางตำรวจได้พยายามติดตามสื่อสารเพื่อขอตัวแล้วหรือไม่
พ.ต.อ.รังษี ชี้แจงว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 14 หมายจับอยู่ที่ไหน ส่วนที่ถามว่ายืนยันหรือไม่ว่ามีผู้ต้องหาหลบหนีไปที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และโตเกียวประเทศญี่ปุ่นนั้น ถือว่าท่านให้เบาะแส ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งเรื่องไปยังอินเตอร์โพลเพื่อขอหมายแดงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พร้อมชี้แจงกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า
หลังวันที่ 12 กันยายนที่ศาลนราธิวาส ออกหมายจับโดยหมายศาล แต่วันที่ 20 กันยายน พนักงานสอบสวนไปขอหมายจับจากศาลปัตตานี และวันที่ 21 กันยายนออกหมายจับ ได้มีการเร่งรัด และตามโดยมีเดทไลน์ 25 ตุลาคม 2567 และนำหมายศาลลงไปในระบบครามของตำรวจ
ขณะที่นายคุณากร มั่นนทีรัย สส.พรรคประชาชนในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่าผู้ต้องหาหลายคน รับราชการทหาร ตำรวจ และมีทหาร 3 คน ที่ยังไม่เกษียณราชการ ซึ่งคนเหล่านี้มีนายทหารติดตาม ได้มีการตรวจค้นบ้านพัก หรือติดตามข้อมูล กับบุคคลเหล่านี้หรือไม่ พ.ต.อ.รังษี ยืนยันว่าได้มีการติดตามตรวจสอบทุกขั้นตอน เส้นทางการเงิน รวมถึงการติดตามสอบสวนและติดตามหาข่าว
ด้านนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สส.พรรคประชาชนในฐานะกรรมาธิการ ได้สอบถามว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้ง Watch List กับผู้ต้องหาหลังจากที่ศาลประทับรับฟ้องคดีนี้เลยหรือไม่ เพื่อติดตามผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย พ.ต.อ.รังษี ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้ง ตม.ตามระเบียบ แต่ ตม.จะดำเนินการแล้วหรือไม่ เราไม่ทราบแต่ระเบียบมีอยู่ ถ้าเจ้าหน้าที่ผิดพลาดก็เป็นเรื่องของตัวบุคคล ขอให้เข้าใจความหมายนี้ด้วย
จากนั้นนางพรเพ็ญ ในฐานะตัวแทนโจทก์ ได้สอบถามอัยการที่เป็นทนายความให้กับจำเลยที่ 8-9 ตัวแทนอัยการได้ชี้แจงว่ากรณีเจ้าหน้าที่รับเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหา โดยราษฎรฟ้อง อัยการเรามีสิทธิ์ที่จะเข้าไปรับแก้ต่าง โดยไม่ต้องจ้างทนาย ตาม พ.ร.บ.อัยการและพนักงานอัยการมาตรา 14 (4) โดยเหตุผลที่เป็นทนายเพราะจำเลยทั้ง 2 รายสังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แต่ผู้ต้องหารายอื่นพนักงานอัยการไม่รับแก้ต่าง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งของการประชุม นายวิทยา ได้กล่าวว่าหลังจากดูชื่อ มาถามตรงนี้ก็ไม่ได้อะไรหรอก เพราะคนที่โดนออกหมายจับเป็นผู้บังคับบัญชาของทุกคนในนี้ยกเว้นอัยการ ที่ไม่มีผู้บังคับบัญชา แต่ที่เหลือเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาทั้งหมด เรื่องนี้หากจะเดินต่อได้ให้ถามรัฐบาล ถามตรงนี้ไม่มีคำตอบ ต่อให้ตอบ ก็ตอบไม่ถูก บางทีบางคนในนี้ยังไม่รับราชการดี เพราะในผู้ต้องหายศต่ำที่สุดคือผู้ว่าราชการจังหวัด ตอนนี้ก็อายุจะ 80 แล้ว และป่วยหนัก
โดยหลังจากพูดจบนายวิทยาได้ลุกออกจากห้องประชุมทันที ขณะที่ระหว่างการประชุมห้องประชุมสภาได้มีการเรียกลงมติ ซึ่งที่ประชุมจากหอพักการประชุม แต่ สส.ของพรรคประชาชน และนายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม บอกว่าการลงมติใช้เวลานาน จึงขอให้ดำเนินการประชุมต่อ ขณะที่ สส.พรรคอื่นในกรรมาธิการ ได้ลุกออกจากห้องประชุมไปลงมติ โดยในที่ประชุมเหลือเพียง สส.พรรคประชาชน และสส.พรรคเป็นธรรม ที่ดำเนินการพิจารณาต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมญาติผู้เสียหายได้ติดตาม ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยกล่าวว่า อยากให้เจ้าหน้าที่เร่งจับกุมผู้ต้องการให้ได้ทั้งหมด และอยากเห็นและรอความยุติธรรมจากคดีดังกล่าว ขณะที่ทางตำรวจก็ได้กล่าวย้ำว่าเร่งรัดการจับกุมอยู่.-314.-สำนักข่าวไทย