รัฐสภา 27 มิ.ย.- กลุ่ม 24 มิถุนาฯ ยื่นขอให้ กมธ.นิรโทษกรรม รวมคดีมาตรา 112 ด้วย ด้าน “ชัยธวัช” ระบุ กมธ. กำลังคุยอำนาจหน้าที่ของ คกก.นิรโทษกรรม ยังไม่คุยปมมาตรา 112
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รับยื่นหนังสือจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และ องค์กรสันติภาพและความสามัคคี เพื่อขอให้มีการพิจารณานิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในประเทศ นำโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข
นายสมยศ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางนิรโทษกรรม โดยเกรงว่าผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการจะฟังเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 โดยไม่ครบถ้วน เนื่องจากทางพรรคการเมืองมีธงนำ หรือมีแนวทางที่สรุปไว้แล้วว่าจะไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 ทำให้ผลการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและหลักสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้นจึงเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณานิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทุกคดี โดยไม่มียกเว้น ด้วยปัจจัยที่สำคัญ เช่น การดำเนินคดีด้วยกฏหมายอาญามาตรา 112 ที่ผ่านมาถือเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองและเป็นผลจากการทำรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ทำให้คดีเพิ่มสูงขึ้น การดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ถูกใช้และตีความแบบเกินเลยไปกว่าตัวบทกฎหมายในหลายครั้ง และที่ผ่านมาเหยื่อถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มักถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ
ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า ที่ผ่านมากรรมาธิการบางคนอาจจะมีการแสดงความเห็นส่วนตัวว่า คดีมาตรา 112 ไม่เป็นคดีทางการเมือง แต่ในส่วนของรายงานของอนุกรรมธิการวิสามัญนิรโทษกรรมได้รวบรวมคดีทางการเมือง หรือคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง มานำเสนอ ซึ่งได้รวมคดีตามมาตรา 112 ด้วย ก็จะเห็นได้ว่าคดีตามมาตรา 112 เกิดขึ้น เนื่องจากมีแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่ง เกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ ในช่วงหลังการรัฐประหารปี 49 และปี 57 ซึ่งจากข้อมูลก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกันกับประเด็นทางการเมือง ซึ่งสาเหตุสำคัญสืบเนื่องจากการรัฐประหารทุกครั้งก็จะมีการอ้างอิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความชอบธรรม รวมถึงรัฐบาลหลังจากนั้นก็ใช้เหตุผลเรื่องความรักภักดีมาเป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองและปราบปรามประชาชนที่มาต่อต้านการรัฐประหาร ทำให้คดีตามมาตรา 112 มีสถิติสูงขึ้นในช่วงนั้นๆ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทางคณะกรรมาธิการยังไม่ได้มีข้อสรุป อีกทั้ง เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาในคณะกรรมาธิการตอนนี้
นายชัยธวัช กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรรมาธิการกำลังพิจารณาเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนิรโทษกรรม ที่มีการเสนอขึ้นมาว่า แนวทางในการออกกฏหมายนิรโทษกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงกับความหลากหลายของคดีการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบเกือบ 20 ปี ไม่ควรจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยบัญญัติกำหนดฐานความผิดไว้ เพราะอาจจะไม่ครอบคลุมหรือจะมีปัญหา เพราะหลายฐานความผิดมีทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งกรรมาธิการเห็นว่า ควรใช้กลไกการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา โดยวันนี้ (27 มิ.ย.)จะลงลึกถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนิรโทษกรรม โดยมีข้อเสนอด้วยว่า ในคดีที่มีความเห็นต่างกันสูง ก็อาจจะให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรม กำหนดเงื่อนไขและกระบวนการเพื่อพิจารณานิรโทษกรรมคดีนั้นๆ เป็นพิเศษ.-315 -สำนักข่าวไทย