ทำเนียบ 12 มิ.ย.- รัฐบาล ปลื้ม สหรัฐชื่นชม การแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กของไทยมีความก้าวหน้ามาก
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า 12 มิถุนายน ของทุกปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labour Organization หรือ ILO) กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 หรือปี พ.ศ. 2542 เพื่อให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนขึ้นของแรงงานเด็ก และช่วยกันยุติการกระทำเหล่านี้ โดยความร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐบาล ลูกจ้าง องค์กรผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกที่จะร่วมหารือถึงการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้และทำให้แรงงานเด็กลดจำนวนลง
นายคารม กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาฉบับที่ 182 “ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก” เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 โดยในทุก ๆ ปีจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ทั้งนี้ ในส่วนของภาคแรงงานไทยถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหาแรงงานเด็ก โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา (US Department of Labor – DOL) พร้อมด้วยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (US Department of State) และกระทรวงรักษาดินแดน (US Department of Homeland Security ได้ประเมินว่า การบังคับใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกุ้งไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งต่าง ๆ หน่วยงานทั้งสามได้สรุปเบื้องต้นว่า ไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่ายังคงมีการบังคับใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกุ้งของไทยอีกต่อไป
“รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งจะเป็นกลไกหลักให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก รวมไปถึงจะได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการสำรวจภาวะการทำงานของเด็ก เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กของประเทศไทยในอนาคต” นายคารม ระบุ .-316 -สำนักข่าวไทย