รัฐสภา 6 มี.ค.-ก้าวไกล ยื่นญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.ศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและอำนาจนิติบัญญัติ หลังมองคำวินิจฉัยศาล รธน. กระทบการทำหน้าที่
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อม สส.ของพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หรือคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีคำวินิฉัยฉบับเต็มประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยพรรคก้าวไกล เห็นว่า มีประเด็นบางประการที่กระทบกับการทำหน้าที่ และการปฎิบัติงานของ สส. รวมถึงสมาชิกรัฐสภา อย่างมีนัยสำคัญ จึงจำเป็นจะต้องเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ กรณีตรวจสอบการกระทำของ สส. หรือสมาชิกรัฐสภา ในการดำเนินการทางนิติบัญญัติ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 และคำวินิจฉัยอื่นๆ
เนื่องจากในการกล่าวหา ว่าการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ สส.พรรคก้าวไกลนั้น เป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งมีประเด็นหนึ่งที่ทางพรรคก้าวไกล ได้โต้แย้งข้อกล่าวหาไว้ว่า การเสนอแก้ไขร่างกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ใช่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่ปรากฏในคำร้อง แต่การเสนอร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฉบับใด เป็นอำนาจของ สส.ตามกระบวนการนิติบัญญัติ และการเสนอร่างกฎหมาย ไม่สามารถเป็นการล้มล้างการปกครองได้ เพราะรัฐกำหนดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติ ทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการตีความขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจโดยตรงในการเสนอกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจที่จะตรวจสอบและวินิจฉัยว่า การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ จะส่งผลต่อความชัดเจนของขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือสมาชิกรัฐสภา
นายชัยธวัช กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาโดยเร่งด่วนในการเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ กรณีการตรวจสอบการกระทำของ สส. รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลก่อนหน้านี้ ว่าด้วยการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือกรณีที่เคยมีการวินิจฉัย ไม่ให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ก็ตามที สิ่งเหล่านี้ ล้วนกระทบต่อสมดุลและดุลยภาพอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างมีนัยสำคัญ
“พรรคก้าวไกล หวังว่าจะสามารถบรรจุเป็นญัตติด่วนได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจาก มีผลโดยตรงทำให้ สส.และสมาชิกรัฐสภาไม่มีความชัดเจนแน่นอน ว่าอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ และอะไรที่สามารถถูกตีความ หรือถูกตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญได้มากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นเพียงญัตติเพื่อเสนอให้มีการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้กระทบต่อคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่ได้เกี่ยวกับการละเมิดศาลใดๆ ทั้งสิ้น”นายชัยธวัช กล่าว
ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะรับญัตติดังกล่าวไปให้ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ตรวจสอบขอบเขตของอำนาจประธานสภาฯ และวิธีการดำเนินงานต่อไป โดยไม่ให้ขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับต่างๆ และจะดำเนินการตามที่พรรคต้องการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่าย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ
ส่วนผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นี้ จะมีผลต่อฝ่ายต่างๆ อย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดจะมีความชัดเจนในฝ่ายนิติบัญญัติ ว่าตกลงเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีแค่ไหน และเราคาดหวังว่าผลการศึกษานี้ จะมีส่วนในนำไปพิจารณาการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคต ขณะนี้เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น ร่างของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้แก้ทั้งฉบับ แต่ละรัฐสภาเห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้พรรคเพื่อไทยจะใช้อำนาจโดยชอบตามรัฐธรรมนูญก็ตาม ถ้าเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ก็จะมีปัญหาต่อไปในอนาคต
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ผลการศึกษานี้ อาจนำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อให้มีความชัดเจนเกิดขึ้น เกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของศาลธรรมนูญมากขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเสนอร่างกฎหมาย เป็นอำนาจของรัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยากตรวจสอบความชอบรัฐธรรมนูญ ก็ควรตรวจสอบความชอบรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว คือหลังจากที่ร่างกฎหมายผ่าน ก่อนที่จะประกาศใช้ ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ให้มีความชัดเจนว่า ให้ยกเว้นอะไรบ้าง มากกว่านั้นอาจนำไปสู่การแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดการเสียสมดุลในการตรวจสอบถ่วงดุลกับสถาบันทางการเมืองต่างๆ
เมื่อถามถึงกรณีที่สำเนาคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถือว่าเร่งรีบพิจารณาหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังสรุปไม่ได้ ทราบอยู่แล้ว ว่ามีคนไปร้อง ทางฝ่ายกฎหมายของพรรค ได้เตรียมตัวที่จะต่อสู้คดี ขณะนี้แค่รอว่าเมื่อไหร่ที่ กกต. จะเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งตามกระบวนการควรต้องมีกระบวนการไต่สวน เพื่อเปิดโอกาสให้เราต่อสู้ ชี้แจงข้อกล่าวหาให้เร็วที่สุด
เมื่อถามว่า กรรมาธิการวิสามัญฯ ที่เสนอตั้งนั้น ไม่ได้มีผลเป็นรูปธรรมต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ถูกต้องแล้ว เป็นไปไม่ได้ และเราไม่ประสงค์ให้กระทบต่อคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ รวมถึงปัญหาในอนาคต หากการศึกษาสามารถนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญที่ดีขึ้นได้ในอนาคตก็จะเป็นเรื่องที่ดี
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ปัญหาการตีความขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมาก หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญเช่นนี้ได้
“เพราะเราเคยแก้ไขมาแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติรวมถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขที่มาของวุฒิสภาได้ แต่มาถึงยุคหนึ่งปรากฎว่า ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจในการตีความเรื่องดังกล่าว มาก้าวก่าย และล้ำแดนฝ่ายนิติบัญญัติ ก็จะเป็นปัญหาการเมืองได้ในอนาคต”นายชัยธวัช กล่าว
เมื่อถามว่า มีการพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ได้แจ้งให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลทราบบ้างแล้ว แต่ท่าทีจะเป็นอย่างไร ไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับเอกสิทธิ์ของพรรค เมื่อช่วงเช้าภายหลังประชุมผู้นำฝ่ายค้าน ตนก็ได้แจ้งให้ทราบว่า จะมีการยื่นญัตติเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้ย้ำกับทุกพรรคว่า นี่ไม่ได้เป็นญัตติ ที่บอกว่าการใช้อำนาจ และการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ถูกหรือผิด แต่เป็นการเสนอให้มีการศึกษาเพื่ออนาคตเท่านั้น.-312.-สำนักข่าวไทย