พรรคก้าวไกล 20 พ.ย.-โฆษกก้าวไกล โวยประชุมสภาฯ ทั้งสมัยไม่มีกม.ที่พรรคเสนอเข้าพิจารณา พร้อมเรียกร้องนายกฯ รับรองร่างกม.การเงินเปิดทางให้สภาฯ พิจารณาหาข้อสรุป
นายพริษฐ์ วัชรสิน โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงถึงสถานะร่างกฎหมายพรรคก้าวไกลยื่นเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร ว่า การประชุมครบ 1 สมัย ยังไม่มีการพิจารณากฎหมายของก้าวไกลสักฉบับ ทั้งที่ก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายทั้งหมด 31 ฉบับ ได้แก่ ปฏิรูปกองทัพ 5 ฉบับ ยกระดับบริการสาธารณะ 2 ฉบับ ปฏิรูปที่ดิน 4 ฉบับ โอบรับความหลากหลาย 3 ฉบับ ปิดช่องทุนผูกขาด 2 ฉบับ ป้องกันการทุจริต 2 ฉบับ คุ้มครองสิทธิแรงงาน 4 ฉบับ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ 1 ฉบับ ปลดล็อกท้องถิ่น 2 ฉบับ ปฏิรูประบบภาษี 3 ฉบับ ยกระดับสวัสดิการ 2 ฉบับ และยุติความขัดแย้ง 1 ฉบับ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ส่วนร่างกฎหมายเป็นร่างการเงินที่ นายกรัฐมนตรีต้องรับรองให้เข้าสภาฯ จำนวน 14 ฉบับ ได้แก่ ร่างปฏิรูปกองทัพ ร่างปลดล็อกท้องถิ่น ร่างยกระดับบริการสาธารณะ ร่างป้องกันการทุจริต ร่างปฏิรูประบบภาษี ร่างปฏิรูปที่ดิน ร่างคุ้มครองสิทธิแรงงาน ร่างยกระดับสวัสดิการ ร่างโอบรับความหลากหลาย ทั้ง 14 ร่าง การที่เราขอให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรอง ไม่ได้หมายความว่านายกรัฐมนตรีเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย แต่การรับรองของนายกรัฐมนตรี เป็นการเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรได้วินิจฉัย ส่วนร่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายการเงินมีทั้ง 17 ร่าง โดยยังรับฟังความเห็นของประชาชน 6 ฉบับ แล้วรอบรรจุเข้าวาระการประชุมสภาฯ 11 ฉบับ
“ในอดีตสัดส่วนกฎหมายการเงินทั้งหมดที่ถูกรับรองโดยนายกฯให้เข้าสู่สภา โดยรัฐบาลประยุทธ์ ให้การรับรองร่างกฎหมายการเงิน 86% จากการเสนอทั้งหมด โดยสัดส่วนร่างกฎหมายการเงินของฝ่ายค้านที่ถูกรับรองโดยนายกฯ เข้าสู่สภา 59% แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการเห็นชอบจากสถาเลย ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีจึงไม่เกี่ยวข้องกับการรับรองกฎหมายเพื่อให้ผ่านสภาฯ แต่เป็นการเปิดทางให้เข้าสู่การพิจารณาหาข้อสรุป ส่วนข้อกังวลที่นายกฯ อาจมีความจำเป็นต้องเป็นเหตุให้ไม่ได้เข้าสภาฯ คือ การเพิ่มภาระงบประมาณที่ผูกมัดมากจนน่ากังวล และขัดกับหลักการสำคัญของนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ร่างกฎหมายสามารถใช้กลไกรัฐสภาในการพูดคุยและพิจารณาได้ เนื่องจากอาจจะกระทบกับทั้งนี้ เชื่อว่ายังมีนโยบายที่สอดคล้องกัน ก้าวไกล ขอความร่วมมือนายกฯ รับรอง 14 ร่างกฎหมายการเงินที่ถูกเสนอโดยสส.ก้าวไกล ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทันการเปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 12 ธ.ค. 66 เพื่อใช้กลไกรัฐสภาในการหาข้อสรุป” นายพริษฐ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย