สุโขทัย 15 ต.ค. – “รองนายกฯ สมศักดิ์” เรียกประชุม จ.สุโขทัย ติดตามโครงการแก้ปัญหาน้ำ เตรียมเสนอ “นายกฯ เศรษฐา” ลงพื้นที่สุโขทัย 27 พ.ย.นี้ สั่งตั้งคณะกรรมการติดตามโครงการ มอบผู้ว่าฯ นั่งหัวโต๊ะ รายงานคืบหน้าทุก 15 วัน หวังแก้น้ำถาวร พร้อมให้สำรวจจุดทำฝาย-ธนาคารน้ำใต้ดิน ฟิตจัดลงสำรวจประตูระบายน้ำ ชี้เปิดทางน้ำจากแม่น้ำยม ไหลลงแม่น้ำน่านได้เร็วขึ้น ไม่ให้ท่วมตัวเมือง
วันที่ 15 ตุลาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามโครงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ จ.สุโขทัย โดยมีนายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สส.สุโขทัย นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สส.สุโขทัย น.ส.ประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาน้ำใน จ.สุโขทัย ถือเป็นโอกาสดีที่ตนดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รวมถึงได้ดูแลกระทรวงคมนาคม ที่จะเชื่อมโยงในเรื่องถนนและสะพาน ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำในจังหวัดได้ ดังนั้น ตนจึงขอฝากให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดเร่งช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างเต็มที่ รวมถึงเป็นโอกาสดีที่ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาเป็นประธานงานลอยกระทงพระราชทาน ที่ จ.สุโขทัย ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ตนจึงอยากให้ทุกภาคส่วนเร่งติดตามโครงการแก้ปัญหาน้ำ เพื่อเตรียมเสนอท่านนายกรัฐมนตรี
“ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก ผมเลยขอให้ทางจังหวัดสุโขทัย มาร่วมประชุมกันในวันนี้ เพื่อติดตามโครงการต่างๆ ว่าเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว โดยเฉพาะการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ประตูระบายน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ผมขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันเร่งรัด เพราะการของบประมาณ ต้องใช้เวลา เพราะมีขั้นตอนจำนวนมาก ดังนั้น รอช้าไม่ได้ ผมจึงขอให้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามโครงการแก้ปัญหาน้ำใน จ.สุโขทัย โดยมอบหมายให้ผู้ว่าฯ เป็นประธาน นายก อบจ.สุโขทัย เป็นรองประธาน พร้อมให้ทุกภาคส่วนเป็นกรรมการ เพื่อให้มีความคืบหน้าในแต่ละโครงการ ซึ่งให้รายงานความคืบหน้าทุก 15 วัน และต้องมีความชัดเจนทุกโครงการ ก่อนที่ท่านนายกฯ จะลงพื้นที่ จ.สุโขทัย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องการทำฝายแกนดินซีเมนต์ ตนก็ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสำรวจว่า จุดใดควรจะสร้างบ้าง โดยขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเราต้องมีการวางแผนให้ดี เพราะขณะนี้มีการตั้งงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่จะทำทั่วประเทศ ตนจึงขอให้ จ.สุโขทัย เสนอจุดที่ต้องการทำฝายด้วย เช่นเดียวกันธนาคารน้ำใต้ดิน ที่ขณะนี้ให้ จ.ชัยนาท นำร่อง แต่ตนมองว่า จ.สุโขทัย ก็สามารถทำได้ จึงขอให้ อบจ.สุโขทัย สำรวจว่าตรงไหนสามารถทำได้ ก็จะได้เสนอทำนำร่อง 2 จังหวัด ชัยนาท-สุโขทัย ขณะเดียวกัน โครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา ที่ดำเนินการออกแบบเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอเข้า กนช. วันที่ 26 ต.ค.นี้ ตนก็อยากให้ตำบลที่ได้รับผลกระทบ ช่วยชี้แจงกับประชาชนว่า ถ้าดำเนินโครงการแล้ว น้ำจะไม่เข้าท่วมตัวเมือง โดยโครงการนี้มีความคืบหน้าแล้ว 4 ระดับ จาก 6 ระดับ ในการของบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะได้งบประมาณในปีงบประมาณ 2568
นอกจากนี้ ภายหลังการประชุม นายสมศักดิ์ ได้ลงพื้นที่ประตูระบายน้ำคลองหกบาท ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เพื่อสำรวจความเสียหายหลังจากเปิดใช้ระบายน้ำ ไม่ให้เข้าท่วมตัวเมืองสุโขทัย เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประตูระบายน้ำคลองหกบาท ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ด้วยสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัย จึงจำเป็นต้องใช้ระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งถ้าแล้วเสร็จ บริเวณนี้จะสามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ในช่วงเหตุน้ำท่วม ได้มีการปล่อยน้ำเกิน 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงทำให้กัดเซาะดิน มีความเสียหายเล็กน้อย โดยโครงการนี้ถือว่ามีประโยชน์ ถึงแม้ยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่ก็ช่วยให้น้ำไม่เข้าท่วมตัวเมือง ซึ่งจุดระบายน้ำนี้ ห่างจากต้นน้ำ คือ โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เพียง 6 กิโลเมตร ทำให้ขณะนี้มีโครงการช่วยระบายน้ำจากบ้านหาดสะพานจันทร์ ที่รองรับน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที มาลงคลองหกบาทอีก 1 เส้น เพื่อให้ระบายน้ำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจจุดตัดเส้นน้ำใหม่ จากบ้านหาดสะพานจันทร์ มาลงคลองหกบาท เพื่อแบ่งน้ำให้มีการระบายได้เร็วขึ้น ซึ่งจะมีการตัดเส้นน้ำใหม่ เป็นระยะทางกว่า 500 เมตร จะทำให้มีทางระบายน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยไม่ให้น้ำเข้าท่วมตัวเมืองสุโขทัย เพราะเดิมที น้ำลงมาคลองหกบาทได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ จึงต้องเปิดทางน้ำใหม่ ขณะเดียวกัน ตนยังได้ลงพื้นที่ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม หลังเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน มีน้ำล้นตลิ่ง แต่วันนี้พบว่าน้ำลดลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลิ่งพังเสียหาย บ้านเรือนประชาชนชำรุด โดยท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้เน้นย้ำให้แก้ปัญหาแบบถาวร เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ตนยังได้ลงพื้นที่คลองละมุง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เพื่อสำรวจดูสภาพการขยายคลองธรรมชาติ ที่ถูกปรับให้มีการระบายน้ำจากคลองหกบาท ไหลลงสู่แม่น้ำน่านได้เร็วขึ้น จากเดิมต้องใช้ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร แต่เมื่อมีการขยายคลองนี้ ทำให้จุดนี้ใช้ระยะทางเพียง 1 กิโลเมตร ก็สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านได้แล้ว. – สำนักข่าวไทย