รัฐสภา 10 ต.ค.-“เฉลิมชัย” สว. ซัดโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทผิดกฎหมาย รธน. ส่อผิด พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ แนะให้กลับไปดูบทเรียนโครงการรับจำนำข้าว ฟังเสียงคัดค้าน ทบทวนโครงการ รอบคอบ
นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา ขอหารือในที่ประชุมวุฒิสภา เรื่อง โครงการเงินดิจิตอล 10,000 บาท สุ่มเสี่ยงจะทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเงินและการคลังของรัฐ โดยมีความผิดเกี่ยวกับตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ว่า “คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่” รัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ว่า “รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดระบบภาษี ให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม” และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในมาตรา 6, 7 และ 9 เพื่อส่งข้อสังเกตไปถึงรัฐบาลในการพิจารณาโครงการต่อไป
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า โครงการเงินดิจิตอล 10,000 บาท มีความผิดแน่นอน ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เนื่องในการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 11 ก.ย. 66 ไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่นำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ความชัดเจนว่าจะนำเงินมาจากที่ไหน ส่วนกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิด โดยพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 6 ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด, มาตรา 7 การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดําเนินการใดๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่าต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย และมาตรา 9 วรรคที่ 3 คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมี GDP 17 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้สาธารณะ 61℅ คิดเป็น 10.91 ล้านล้านบาท นายเฉลิมชัย กล่าวว่า รัฐบาลต้องการนำมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาบังคับใช้โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสิน รับไปดำเนินการแทนรัฐบาล ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจโดยใช้เงินของรัฐวงเงิน 5.6 ล้านล้านบาท และรัฐบาลจะรับภาระในจ่ายเงินชดเชยในภายหลัง จากการตรวจเช็กพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 แล้ว การจะมอบหมายให้ธนาคารออมสินไปดำเนินการต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่กลับไม่อยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์การจัดตั้งธนาคารออมสิน ตามพ.ร.บ.ธนาคารออมสิน มาตรา 7
“ขอให้รัฐบาลพิจารณาด้วยความรอบคอบ แต่หากรัฐบาลจะทำตามที่หาเสียงเอาไว้ก็ขอให้รัฐบาลพิจารณาตามข้อกฎหมายด้วย หากเกิดข้อผิดพลาดผู้ใดจะรับผิดชอบ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ประชาชนต้องรับผิดชอบ” นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ประชาชนต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว เนื่องจากรัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินไปดำเนินการแทน เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ท่านไปศึกษาโครงการรับจำนำข้าวในอดีต นอกจากนี้ ขอให้พิจารณาแก้ไขตามความเห็นเสียงคัดค้านของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” นายเฉลิมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย