กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – “เศรษฐา” ย้ำการลดราคาพลังงาน จะนำเข้า ครม.วาระแรกๆ ด้านนักวิชาการ แนะระยะแรกควรช่วยกลุ่มเดือดร้อนสุดก่อน เหตุจากสภาพเศรษฐกิจและงบประมาณจำกัด
ช่วงเช้าวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ประเด็นการลดราคาพลังงาน ย้ำว่า จะเป็นเรื่องหนึ่งในวาระแรกๆ ที่จะนำเข้าที่ประชุม ครม. ส่วนตัวเลขการลดราคาพลังงาน ขอพิจารณาก่อน ซึ่งเมื่อวานนี้ (30 ส.ค.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ มาให้ข้อมูล เรื่องนี้มีแนวทางชัดเจนแล้ว แต่ขอดูตัวเลขที่เหมาะสม เพราะต้องปรึกษากระทรวงการคลังเกี่ยวกับงบประมาณต่าง ๆ ด้วย ซึ่งจากการพูดคุย ถ้าลดราคาพลังงานแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ตอนนี้ที่น่ากังวล คือ เรื่องกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่แผ่วลงไปเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ที่ต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เนื่องจากเงินเฟ้อสูง ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในขณะที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเยอะ พอเศษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ การส่งออกเลยแผ่วลงไปด้วย โดยตัวเลขการส่งออกในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ติดลบมากถึง 6%
ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ กำลังซื้อของภาคครัวเรือนก็ค่อนข้างอ่อนแรง เพราะประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ประมาณ 90.6% ของจีดีพี และมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ หนี้ในระบบจึงมีภาระสูงขึ้นด้วย ในขณะที่ค่าครองชีพก็แพง ตรงนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยดูแล เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ซึ่งก็เป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อด้วย
ดังนั้น การแก้ปัญหาราคาพลังงานจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศลดราคาพลังงานเป็นนโยบายเร่งด่วน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม เห็นความตั้งใจของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพียงแต่มองว่าจะแก้อย่างไร เพราะว่าแต่ละเรื่องก็จะมีกลไกโครงสร้าง อย่างเรื่องของราคาน้ำมัน จะมีเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และรัฐเองก็พยายามที่จะอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลด้วย ดังนั้น ควรจัดลำดับความสำคัญ พิจารณาให้ดีว่าจะเลือกใช้แนวทางไหนในการทำให้ราคาน้ำมันลดลง เพราะทั้งหมดนี้คือเม็ดเงินก้อนเดียวกัน เสมือนกระเป๋าซ้ายขวา ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้า ก็โยงจากค่าน้ำมัน ซึ่งมีค่า FT ที่ตอนนี้ ผู้รับปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นเงิน 1 แสน 1 หมื่นล้านบาท ตรงนี้รัฐบาลจะทำอย่างไร
อาจารย์ มนตรี แนะว่า ควรตั้งโจทย์ว่าอะไรสำคัญ ควรทำก่อน ทำหลัง การบริหารประเทศต้องดูจากหลายมิติ ว่าอะไรเป็นเรื่องเร่งด่วนกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเห็นใจรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชน แต่เงินงบประมาณตอนนี้ มีอยู่อย่างจำกัด และสภาพเศรษฐกิจก็ไม่สู้ดีนัก มีตัวแปรภายนอกเข้ามาเป็นเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ จึงเสนอทางเลือกว่า ในระยะแรกรัฐบาลอาจแบ่งความช่วยเหลือออกเป็นกลุ่มๆ ช่วยเหลือกลุ่มที่เดือดร้อนมากก่อน ส่วนในระยะกลางและระยะยาว ควรวางแผนให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดี ประชาชนมีงานทำมากขึ้น และส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในส่วนของภาคเอกชนพร้อมจะปรับแผนทางธุรกิจ เพียงแต่รัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา จะได้วางแผนได้ถูก .-สำนักข่าวไทย