สำนักงานกกต. 18 ส.ค.-นักวิชาการไม่มั่นใจ 22 ส.ค.จะได้นายกฯ ชื่อ “เศรษฐา” คาดยืดเยื้อ เป็นไปได้สูง “พล.อ.ประวิตร” รับไม้ต่อ ชี้ พท.กำลังล้มละลายทางความเชื่อถือ แนะทบทวนจุดยืน โจทย์ทางการเมืองให้ถูกต้อง
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการโหวตนายกฯ ที่จะเกิดขึ้นหลังพรรคเพื่อไทยดึงพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมจัดตั้งรัฐบาล ว่าการโหวตที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ส.ค. โอกาสที่จะโหวตผ่านก็ยัง 50 ต่อ 50 และไม่มั่นใจว่าจะโหวตได้หรือไม่ เพราะว่าในวันนั้นอาจจะมีเกมส์การเมืองในสภาฯ เกิดขึ้น โดยเฉพาะการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพูดถึงและการจะขอให้ทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ก็มีความเป็นไปได้ และอาจเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายเมื่อสองสัปดาห์ก่อนที่เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่การปิดประชุม คิดว่าเสียงของส.ส.ที่จะมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ น่าจะโหวตให้กับแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยครบทั้งหมด แต่จุดที่ต้องจับตาคือเสียงของส.ว.จะสนับสนุนหรือไม่
“ถ้าวันนี้มีพรรคสองลุงเข้ามาครบถ้วน หรือมาเพียง 1 พรรคก็มีโอกาสได้เสียงส.ว.จะได้ตัวเลข 376 แต่ผมยังไม่มั่นใจว่าเสียงส.ว.จะได้ตามนั้นหรือไม่ เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่างสำหรับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะถ้าเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสินจะมีประเด็นที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ นำมาโจมตี ที่จะต้องชี้แจงสังคม และมีประเด็นเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะปิดโอกาสพรรคเพื่อไทย หลายคนอาจมองว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นการตัดโอกาสของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล ซึ่งผมมองว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันต่อพรรคเพื่อไทยด้วย จะทำให้การโหวตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยโหวตเคนดิเดต 1 คนได้เพียงหนึ่งครั้ง ดังนั้น เมื่อมีกระบวนการที่จะกดดันพรรคเพื่อไทย จะมีผลต่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวว่า แคนดิเดตนายกฯ ทั้ง 9 คน ใช้งานได้เพียง 4 คน คือ 2 คน นายเศรษฐาและน.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย และอีก 2 คน คือนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทยและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณจากพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น ถ้านายเศรษฐาโหวตไม่ผ่าน โอกาศที่จะเป็นน.ส.แพทองธารยังไม่แน่นอน เพราะอาจไม่มีการเสนอชื่อน.ส.แพทองธารในสถานการณ์เช่นนี้ โอกาสที่ที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะไหลไปสู่ขั้วอำนาจเดิมมีความเป็นไปได้สูง
“พรรคเพื่อไทยอาจถือว่าเป็นแกนนำที่ไม่ได้นำจริง ๆ เพราะสุดท้ายพรรคเพื่อไทยจะต้องยอมรับทุกเงื่อนไข และยอมรับทุกอย่างที่เป็นการต่อรองและเรื่องโควตารัฐมนตรี รวมทั้งเผชิญกับการเมืองที่มาจาก 250 ส.ว. เพราะมีส.ว.ส่วนหนึ่งที่ตั้งประเด็นเรื่องจริยธรรมทางการเมืองของนายเศรษฐา อีกทั้งการเมืองจาก 8 พรรคร่วมเดิมโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ซึ่งวันนี้พรรคก้าวไกลชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล และอาจมีประเด็นเรื่องที่นายพิธาจะไม่ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเกมก้าวไกลที่จะกดดันเพื่อไทยให้ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขจากมติศาลรัฐธรรมนูญ และมติของสภาฯ ที่ห้ามโหวตซ้ำ ผมจึงยังไม่มั่นใจว่าการโหวตในวันที่ 22 ส.ค.จะมีนายกฯ ที่ชื่อนายเศรษฐา ทวีสินหรือไม่” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวว่า การเดินหน้าของพรรคเพื่อไทยเป็นการตอบโจทย์ถูก แต่ตั้งโจทย์ผิด เพราะเพื่อไทยตอบโจทย์ถูกเรื่องจัดตั้งรัฐบาล แต่โจทย์ที่ถูกต้องสำหรับเพื่อไทยคือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นจากประชาชนที่พรรคเพื่อไทยกำลังล้มละลายทางความเชื่อถือ ถ้ามองระยะยาวอยากให้พรรคเพื่อไทยทบทวนจุดยืนและโจทย์ทางการเมืองที่ถูกต้อง
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ถ้า 2 ลุงสนับสนุนและสั่งให้ส.ว.โหวตหนุนนายเศรษฐา นายยุทธพร กล่าวว่า หากพรรค 2 ลุงมาด้วยความจริงใจ ไม่ว่าลุงคนใดคนหนึ่งหรือ 2 ลุง โอกาสที่เราจะได้เห็นเสียงจากส.ว.มาสนับสนุนอย่างน้อย 100 เสียง เป็นไปได้ จะทำให้เสียงมีถึง 314 เมื่อรวมพรรคเล็กจะได้ 315 และบวกกับ 100 เสียง ส.ว.จะได้ 415 ซึ่งจะเกินว่า 376 เสียง
ส่วนจะมีเกมบีบให้ไปถึงการเสนอชื่อพล.อ.ประวิตรหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เพราะจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราถึงไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าพล.อ.ประวิตรจะไม่อยู่สมการการเมืองนี้แล้ว
เมื่อถามว่าประเมินแล้วจะมีนายกฯ ในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ไม่เร็วกว่าเดือนสิงหาคม เพราะถ้าทุกอย่างลงตัว โอกาสในการเลือกนายกฯ คงจะเรียบร้อยระยะหนึ่งแล้ว แต่วันนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองในภาวะไม่ปกติ ขณะนี้ยังมีความไม่ลงตัว โอกาสที่จะเห็นความยืดเยื้อในการเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้สูงมาก ๆ ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลต้องตอบโจทย์ 4 เรื่อง คือ เสียงของประชาชนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง การประกาศวางมือทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ พรรคเพื่อไทยต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และความคาดหวังของประชาชนกับภาพการเมืองที่จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งการไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง ทำให้ไม่เกิดความสมดุลทางการเมือง จึงส่งกระทบต่อการโหวตนายกฯและจัดตั้งรัฐบาล.-สำนักข่าวไทย