อสมท 6 ก.ค.-“ยุทธพร” มั่นใจโหวตนายกฯ ไม่เกิน 3 ครั้ง ประเมินโอกาส “พิธา” 50:50 ชี้โอกาสพลิกขั้วมีสูง
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีนัดแรก 13 ก.ค.นี้ ว่า สามารถออกมาได้ทั้ง 2 แบบ คือ 1. ไม่สามารถหาข้อยุติได้ นำไปสู่การโหวตครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลเพียงคนเดียว ว่าจะมีส.ว.มาเติมถึง 64 เสียงเพื่อให้ครบ 376 เสียงหรือไม่ จากพรรคร่วมรัฐบาลที่มี 312 เสียง 2. โอกาสเกิดขึ้นแบบม้วนเดียวจบ เป็นไปได้ทั้งจากกรณีโหวตเลือกนายพิธาถึง 376 เสียง หรือการส่งคู่เทียบกับนายพิธา ซึ่งคู่เทียบจะมาจากคนละขั้วกับนายพิธา คือ 188 เสียง ต้องไม่ลืมว่า 250 ส.ว.เมื่อรวมกับขั้วอำนาจเดิมจะได้ 438 เสียง สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ทันทีคือจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่หากสามารถคลายปมรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ โอกาสที่จะเห็นการโหวตจากขั้วอำนาจเดิมชนิดม้วนเดียวจบ แล้วไปแก้ปัญหาเรื่องรัฐบาลเสียงข้างน้อยข้างหน้าก็มีโอกาสเป็นไปได้
ส่วนที่ว่าแม้ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่หากฝืนเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยอาจขาดเสถียรภาพและเดินต่อลำบาก นายยุทธพร กล่าวว่า ฉากทัศน์ที่จะทำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะมีความยากลำบากในการทำงาน เพราะการจะไปหาเสียงมาเติมอีก 70 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เป็น 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย หากจะได้เสียงมาเพิ่มต้องมาจาก 2 พรรคใหญ่นี้ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อย การจะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย มีความเป็นไปได้ถึงแนวคิดที่จะอยู่ทำงานในระยะเวลา 2 ถึง 3 เดือน จากนั้นก็ประกาศยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่
“สิ่งที่น่าสนใจคือสัญญาณจาก 77 เสียงของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ซึ่งสะท้อนความไม่มีเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลเดิม สะท้อนภาพว่าอาจเกิดการเคลื่อนไหวได้ตลอดใน 188เสียง รวมถึงการส่งสัญญาณไปถึง 8 พรรคร่วมรัฐบาลพรรคก้าวไกล ถามว่าส่งไปยังพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่มีประโยชน์อะไรเพราะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ไม่มีมุ้งหรือกลุ่มย่อยทางการเมือง อย่างมากก็ได้เสียง 1 ถึง 2 เสียงซึ่งไม่เป็นประโยชน์ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่อยู่ในการเมืองมานาน มีกลุ่มย่อยและมุ้งทางการเมืองที่มากกว่า ดังนั้น การขยับมุ้งทางการเมืองต้องมา 20 30 40 เสียง ดังนั้น 77 เสียง เป็นการส่งสัญญาณไปยังพรรคเพื่อไทยว่าจะมีโอกาสมารวมกัน และเกิดการพลิกขั้วได้ ซึ่งวันนี้ถ้าเราเอา 312 เสียง ของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล ลบ 151 ของพรรคก้าวไกลออกไปจะเหลือ 161 เสียง ถ้าเอามารวมกับ 77 เสียง จะได้ 238 เสียง เข้าใกล้กึ่งหนึ่งจาก 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับสัญญาณ 77 เสียงถึงโอกาสพลิกขั้วทางการเมือง ซึ่งถ้าเกิดการพลิกขั้วทางการเมือง ต้องผ่านโหวตรอบแรกเลือกนายพิธาไม่ผ่าน 376 เสียงก่อน ไม่เช่นนั้นพรรคเพื่อไทยต้องรับไปเต็ม ๆ” นายยุทธพร กล่าว
ส่วนกรณีที่ส.ว.หลายคนที่เคยจะโหวตให้นายพิธาขอกลับไปทบทวนใหม่ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะต้องโหวตรอบสองใช่หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า เป็นไปได้สูง เพราะหลังจากการเลือกตั้งมาแล้ว จะเห็นท่าทีของส.ว.ประมาณไม่เกิน 20 ที่ประกาศจะสนับสนุนนายพิธา ซึ่งแม้จะมีเสียงส.ว.ไปได้ถึง 40 เสียงเมื่อรวมกับ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลแล้วก็ยังไปไม่ถึง 376 เสียง ดังนั้น 64 เสียงของส.ว.เป็นโจทย์ที่ยากมาก และช่วงใกล้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนายพิธาต้องเจอกับอีกหลายด่าน ทั้งการยื่นเรื่องร้องเรียน มาตรา82 ของรัฐธรรมนูญ เรื่องการถือครองหุ้นสื่อ กกต.จะว่าอย่างไร หรืออาจจะมีส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ยื่นร้องเอง
“ส่วนด่านที่สอง เรื่องเกมการเมืองในสภามีตัวแปรที่เพิ่มเข้ามาคือส.ว. 250 คน ซึ่งอาจจะมีเรื่องคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามและเรื่องคดีความต่าง ๆ ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ที่ทำให้ ส.ว.ไม่ลงคะแนนให้นายพิธา สำหรับการไม่ลงคะแนนมีได้ 2 ลักษณะ คือ โหวตโน ไม่รับชื่อนายพิธาและพรรคก้าวไกล หรือจะโนโหวต คือการงดออกเสียง ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็จะทำให้เสียงของนายพพิธาไม่ถึง 376 เสียงอย่างแน่นอน ขณะด่านที่ 3 คดีความต่าง ๆ เรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรต่าง ๆ เท่ากับว่านายพิธายังเผชิญอีกหลายด่าน และด่านเหล่านี้เป็นเหตุให้ส.ว. หยิบยกขึ้นมาได้ทั้งหมด โอกาสที่จะเห็นการเคลื่อนไหวของส.ว.ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้สูงมาก” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวว่า หากแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือสนับสนุนนายพิธา , กลุ่มโหวตโน และกลุ่มโนโหวตงดออกเสียง ซึ่งกลุ่มที่โนโหวตและโหวตโนมากกว่ากลุ่มสนับสนุน ขณะที่เรื่องผู้สนับสนุนนายพิธาจนถึงวันนี้คณะเจรจายังไม่เปิดเผยออกมาว่าได้เสียงส.ว.มาแล้วกี่เสียงที่ชัดเจนแน่นอนและมีชื่อใครบ้าง หากพรรคก้าวไกลและคณะเจรจาสามารถเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ได้จะเรียกความเชื่อมั่นให้กับพรรคก้าวไกลและนายพิธาได้เป็นอย่างดี
ส่วนกรณีนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ระบุชัดเจนว่า หากเป็นสองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย พร้อมสนับสนุนบนเงื่อนไขไม่มีพรรคก้าวไกล เป็นพรรคร่วมรัฐบาลถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า จะโดยชอบหรือไม่ชอบก็ตาม พรรคเพื่อไทยคือตัวเลือกที่ดีที่สุดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเวลานี้ ดังนั้น จะเห็นกระบวนการออกมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ของขั้วตรงข้าม กระบวนการสลับขั้วจึงมีความเป็นไปได้ และมีโอกาสที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย
“วันนี้สำหรับนายพิธาให้ 50 ต่อ 50 เท่านั้น ในขณะที่ 2 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยคือนายเศรษฐา ทวีสิน และน.ส.แพทองธารชินวัตรมีโอกาสที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี 40%ขึ้นไป ส่วนอีกแคนดิเดตนายกฯ อีกฟากฝั่งหนึ่ง เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีโอกาส 50 ต่อ 50 หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็มีโอกาส เป็นนายกฯ 40% ขึ้นไป โอกาสพลิกเป็นไปได้สูง เพราะสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยม พรรคเพื่อไทยคือตัวเลือกที่ดีกว่าพรรคก้าวไกล” นายยุทธพร กล่าว
เมื่อถามว่าจะยื้อกันไปได้มากน้อยแค่ไหนและจะไปจบกันอย่างไร รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า อย่างมากที่สุดไม่เกิน 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นปัญหา หากเป็นเช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมา อย่างปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและภาพรวม เพราะฉะนั้นกระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ยาวนานอาจไม่เกิดขึ้น โอกาสโหวตแบบม้วนเดียวจบก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะจากฝั่งขั้วอำนาจเดิม นอกจากนี้อาจจะเกิดการชุมนุมกดดัน ดังนั้นกระบวนการโหวตแบบม้วนเดียวจบก็จะเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะเมื่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเรียบร้อย แล้วผลการเลือกเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้
“ปัจจุบันประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้เล่นทางการเมือง ต่างจากในอดีตที่กระบวนการทางการเมืองจะมีการเลือกตั้งและตัวแทนของประชาชนจะเข้าไปทำหน้าที่ และปัญหาที่เกิดขึ้นคือกลไกหรือกติกาออกแบบมาให้เสียงของประชาชนพ่ายแพ้ เสียงข้างมากที่มีอำนาจน้อยและเสียงข้างน้อยที่มีอำนาจมาก เช่น กรณี 250 ส.ว. กระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องตอบความชอบธรรมให้ประชาชนจะทำให้ต้นทุนของประเทศที่ต้องจ่าย มีมากเช่นเดียวกัน” นายยุทธพร กล่าว.-สำนักข่าวไทย