กรุงเทพฯ 4 ก.ค. – ย้อนวันแห่งประวัติศาสตร์ 11 ตุลาคม 2540 สมัยที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา ได้เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นได้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวกัน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นกฎหมายสูงสุด ฉบับที่ 16 รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ริเริ่มขึ้นโดยพรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเข้ามาดำเนินการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 99 คน โดย 76 คน เป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด และอีก 23 คน มาจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งฉบับเดียวของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญ 15 ฉบับ มาจากคณะรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งหรือรัฐบาลทหาร รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่าง แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ลงมติรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้. – สำนักข่าวไทย