ทำเนียบฯ 29 มิ.ย.-“วิษณุ” เชื่อเลือกประธานสภาฯ ไม่เกิดปัญหา เพราะเป็นไปตามมติเสียงข้างมาก คาดแย่งตำแหน่งกันเพราะเหตุอื่น ไม่ใช่ปมเลือกนายกรัฐมนตรี ระบุหากประเมินตั้งรัฐบาลล่าช้า ครม.เก่าต้องแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงไปก่อน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ตามกฏหมายจะต้องเลือกให้ได้ภายใน 10 วัน หลังจากหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งไม่เคยที่จะเลือกประธานสภาฯ ไม่ได้ เพราะใช้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ต่างกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนหากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จะเป็นหน้าที่ของประธานสภาฯ ที่จะเป็นผู้กำหนด โดยไม่มีกรอบเวลา ขึ้นอยู่กับนัดหมายและการตัดสินใจของประธานสภาฯ
นายวิษณุ กล่าวถึงขั้นตอนการเสนอรายชื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร สามารถเสนอรายชื่อขึ้นมาพร้อมกันหลายคนได้ เช่น พรรคที่หนึ่งเสนอ พรรคที่สองเสนอ พรรคที่สามจะเสนอก็ได้ แต่ต้องเป็นในคราวเดียวกัน และให้ตัดสินโดยเสียงโหวต ใครได้เสียงข้างมาก ก็ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไป ดังนั้น โอกาสที่จะเลือกประธานสภาฯ ไม่ได้ แทบจะไม่เกิดขึ้น สมมติว่า เสนอ 2 พรรค คะแนนห่างกันเท่าไร คนชนะก็จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ไป ไม่มีเหตุที่จะเลือกไม่ได้ นอกจากจะมีการฟังแถลงวิสัยทัศน์ ที่ไม่ได้มีข้อกำหนดไว้ว่าต้องแถลงวิสัยทัศน์ แต่อาจมีสมาชิกเสนอให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งหากมีการแสดงวิสัยทัศน์จริง และไม่จบภายในวันเดียว ก็นัดมาลงมาคะแนนใหม่ได้ในวันรุ่งขึ้น หรือวันถัดไป
ทั้งนี้ หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี การทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการยาวนานจะมีผลกระทบอะไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ประชาชนอยากได้รัฐบาล อยากเห็นความชัดเจน ซึ่งการเป็นรัฐบาลรักษาการก็มีหลายอย่างที่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะการใช้งบกลางที่มีจำกัด และที่สำคัญงบประมาณออกช้า หากได้รัฐบาลเร็วก็จะสามารถแถลงนโยบายและเสนอกฎหมายได้เร็ว
ขณะที่การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพและข้าราชการระดับสูง จะต้องรอรัฐบาลใหม่ หรืออยู่ในกรอบเวลารัฐบาลเดิมที่สามารถทำได้ นายวิษณุ กล่าวว่า คงต้องดูตาม้าตาเรือ รัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นได้เร็วหรือไม่ หากเร็วก็จะรอ แต่หากไม่เร็ว ก็จำเป็นที่รัฐบาลเก่าต้องตั้งไปก่อน ทั้งนี้ ไม่ทราบว่าสถานการณ์ขณะนี้จัดตั้งรัฐบาลได้ช้าหรือเร็ว
ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจควบคุมการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สภาฯ มีอำนาจกำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนถึงเวลาจะเลือกอย่างไร มีกี่ชื่อ จะเป็นเรื่องของสมาชิก
เมื่อถามว่า หากต้องการเปลี่ยนเกมเสิร์ฟ ก็ใช้เสียงข้างมากของสมาชิก หากอันดับ 1 ไม่ได้เสียงโหวตนายกรัฐมนตรี ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในเวลานั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องปฏิญาณตนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะมีฐานะเหมือนการประชุมสภาฯ ปกติทั่วไป ใครเสนอมา แล้วอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ก็เสนอขึ้นมาแข่ง ประธานสภาฯ ต้องให้โหวตว่าจะเอาแบบไหน โดยใช้เสียงข้างมากในสภาฯ เป็นผู้ตัดสิน
“ที่แย่งตำแหน่งประธานสภาฯ กันหนักหนา ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีหรอก แต่หมายถึงการทำหน้าที่อื่นๆ ต่อไปด้วย ทั้งเรื่องกฎหมาย กระบวนการต่างๆ การนัดวันประชุม เมื่อจบเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ประธานสภาฯ ยังมีอำนาจ แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจยิ่งใหญ่ไพศาลเหมือนที่นายชวน หลีกภัย ได้พูดไว้ จะชี้เป็นชี้ตายไม่ได้ บางเรื่องประธานสภาฯ ตัดสินใจเองได้ แต่บางอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก อย่างน้อยประธานสภาฯ ก็มีอำนาจในการสั่งปิดประชุม” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า ในเรื่องกฎหมาย ประธานสภาฯ มีอำนาจตัดตอนได้ทุกกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะ ม.112 นายวิษณุ กล่าวว่า จะเป็นอำนาจประธานในการชี้ขาดตอนแรก ว่าจะรับหรือไม่รับ หากมองว่าเป็นการเสนอญัตติที่ผิดกฎหมาย ก็ไม่รับได้ ส่วนเรื่องนี้เป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเขาอยากได้เพราะอะไร แต่ใครได้ก็ดีทั้งนั้น
เมื่อถามว่า คนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองจะสามารถลาออกในช่วงนี้ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่สามารถลาออกได้ แต่สามารถใช้วิธีที่เขาเลือกมาแล้ว ไม่รับตำแหน่งได้ หรือไม่ก็ทำให้ตนเองขาดคุณสมบัติ แต่ลาออกไม่ได้ ซึ่งตั้งแต่การสมัคร มีระบุไว้แล้วว่าถอนตัวไม่ได้ ยกเว้นเสียชีวิต หรือขาดคุณสมบัติ.-สำนักข่าวไทย