กกต. 15 มิ.ย.- “เรืองไกร” ส่งเอกสารเพิ่มให้ กกต.หนุนสอบ ม.151 “พิธา” ยันไม่มีส่วนกับขบวนการปลุกผีไอทีวี ถามกลับออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้วยื่น ก.ล.ต.ทำไม
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ส่งหลักฐานเพิ่มและขอให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.นำไปตรวจสอบเพิ่มเติม กรณีตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ถูกพิจารณาในคดีอาญา มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 รวมทั้งขอให้ กกต.ตรวจสอบตามแบบส.ส. 4/20 ซึ่งเป็นหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อลงสมัครเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ 4/30 หนังสือยินยอมให้เสนอชื่อรับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ว่าเข้าข่ายตามความในมาตรา 132 หรือไม่ ทั้งนี้ได้นำส่งทางไปรษณีย์ พร้อมสำเนาหน้าเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล ที่ได้โพสต์ข้อความหัวข้อ “คนโกงวงแตก ก้าวไกลชำแหละเพิ่มขบวนการปลุกผีไอทีวี” ที่มีเนื้อหากรณีนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเปิดคลิปเสียงการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน และสำเนาแบบส.ส.4/20 และ 4/30
นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อความบางส่วนมีการกล่าวถึงตนแบบคลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามความจริง ขอย้ำว่าการเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.ที่ผ่านมา ตนดำเนินการคนเดียว ไม่ได้ร่วมกับผู้อื่น ส่วนที่นายชัยธวัช ระบุถึงกรณีที่กกต.จะดำเนินการ 151 กับนายพิธา ไม่มีหลักฐานและน้ำหนักเพียงพอนั้น ตนเห็นว่าการดำเนินการของ กกต.ตามมาตรา 151 ควรหมายรวมถึงการกระทำตามแบบ ส.ส. 4/20 และ 4/30 จึงควรตรวจสอบตามมาตรา 151 ให้ครบถ้วน เพราะตามหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และหนังสือยืนยอมให้เสนอชื่อแต่งตั้งเป็นนายกฯ ซึ่งนายพิธาจะต้องลงนามรองรับไว้แล้ว
นายเรืองไกร กล่าวว่า การส่งหนังสือนี้ เป็นการส่งเพิ่มเติมตามมาตรา 151 หลังจากเมื่อไม่กี่วัน พรรคก้าวไกลมีการโพสต์ข้อความกล่าวอ้างถึงตนต่างๆ ซึ่งยืนยันว่าทำคนเดียว ไม่ใช่พ่อมดหมอผี นอกจากส่งหลักฐานประกอบเพิ่มเติมแล้ว ยังอธิบายรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) จะต้องไม่ถือหุ้นสื่อ ซึ่งใช้บังคับครอบคลุมไปถึงองค์กรอื่นๆ ด้วย เช่น วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกรรมการองค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ถือหุ้นสื่อ ส่วนที่พรรคก้าวไกลพยายามแก้ต่างว่าถือหุ้นเพียง 4.2 หมื่นหุ้น ตนก็ขอยกรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ให้เห็นว่า ถ้ารัฐธรรมนูญจะกำหนดจำนวนหุ้น ก็จะต้องระบุว่าถ้ารัฐมนตรีจะถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัดเกินกว่าร้อยละ 5 หากเกินนี้ แต่ไม่แจ้งหรือฝากก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่หากเป็นการจัดการหรือก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของสื่อก็จะเข้าตามมาตรา 184 วรรค 4 อีกทั้งการที่ กกต.จะดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องดูในหนังสือยินยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และแคนดิเดต ว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม แต่เนื่องจากนายพิธาสมัคร 2 สถานะ ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสมัครแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งห้ามเหมือนกัน ตนจึงขอให้กกต.ตรวจสอบประเด็นนี้เพิ่มเติมเข้าไปด้วย
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลมีการโต้แย้งว่า คุณสมบัติต้องห้าม ไม่ครอบคลุมถึงคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ นายเรืองไกร กล่าวว่า ใครว่ามา อ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 89 วรรคสองเป็นหรือไม่ ขอให้คนพูดไปอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 89 วรรคสองและ พ.ร.ป. ส.ส. มาตรา 14 วรรคสองด้วย
ส่วนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายงานงบการเงินไอทีวีปี 2565 ที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีข้อความแตกต่างกัน เกี่ยวกับการทำกิจการสื่อและชี้พิรุธว่ารายงานงบฯ ที่ออกมาวันที่ 10 พ.ค. ตรงวันที่นายเรืองไกรนำมายื่นร้องนายพิธาที่ กกต. เข้าข่ายว่าเป็นหนึ่งในขบวนการปลุกผีไอทีวี นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนให้ข่าวเรื่องหุ้นว่าจะมายื่น กกต.ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.แล้ว ว่าจะมายื่น กกต.วันที่ 10 พ.ค. ซึ่งอยากให้ไปดูเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายพิธา ที่โพสต์ข้อความชี้แจงเกี่ยวกับการร้องเรียนเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ว่าเจตนาสกัดพรรคก้าวไกล เพราะพรรคกำลังทลายทุนผูกขาด ไม่มีข้อความใดที่เขียนว่ามีการปลุกผีไอทีวี ส่วนถ้ามองว่ารายงานงบฯ ที่ส่ง ก.ล.ต. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีพิรุธ ก็เรียกให้สอบได้ แต่ตนไม่ได้ดูเอกสารฉบับนี้ของ ก.ล.ต. และตนสงสัยว่าในเมื่อไอทีวีถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้ว เหตุใดยังต้องยื่นรายงานงบฯ ต่อ กลต.ด้วย ซึ่งนายพิธาก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กในวันที่ 6 พ.ค.ว่า บริษัทไอทีวีถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้ว.-สำนักข่าวไทย