พรรคเพื่อไทย 13 ก.พ.- “เพื่อไทย” ยื่น กกต.กทม. คัดค้านการแบ่งเขตแบบที่ 6-8 ชี้ขัดกฎหมาย ม.29 มอง เป็นการรัฐประหารจากแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่เห็นด้วยแบบที่ 1-2 เหมาะสม-สอดคล้อง เลือกตั้งปี 62
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกทม.และนางสุภาพร คงวุฒิปัญญา ส.ส.กทม.ร่วมกันแถลงข่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งของกทม.ที่ออกมาถึง 8 แบบ จากเดิม 5 แบบ และเสนอเพิ่มเติมมาอีก 3 แบบ
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. นั้น เดิมที่มี 5 รูปแบบ ซึ่งมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อยู่แล้ว แต่ล่าสุด กกต. แบ่งออกมาเพิ่มอีกรวมเป็น 8 รูปแบบ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ ซึ่งมองว่า การแบ่งแขตรูปแบบที่ 6-8 ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับประชาชน เกิดความไม่สะดวก ที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างความลำบากต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ทำให้ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ซึ่งเคยทำงานมา
ทั้งนี้ การแบ่งเขตดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้สมัครพบปัญหาว่า ในเขตเดียวมีผู้สมัครถึง 3-4 คน ต่างพรรคต่างเบอร์กัน จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปผิดพลาดบกพร่อง เกิดบัตรเสียจำนวนมาก และไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย กกต.ควรยึดตามหลักกฎหมายและความเป็นจริง พรรคเพื่อไทยจึงจะส่งทีมกฎหมายไปยื่นร้องต่อกกต.กทม. ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตเลือกตั้งในแบบที่ 6-8 แต่เห็นว่าแบบที่ 1และ2 มีความเหมาะ และสอดคล้องกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
ด้านนายวิชาญ อธิบายถึงปัญหาของการแบ่งเขตรูปแบบ 6-8 มีโอกาสสร้างความสับสนให้ประชาชนมากกว่า หากมีการแบ่งพื้นที่ตามแขวง คงเรียก ส.ส.เขต ไม่ได้ ต้องเรียกว่า ส.ส.แขวง และจะสร้างผลเสียคือบัตรเสียจะมากขึ้น ซึ่งหากแบ่งเขตตามแบบ 1-2 จะมีความชัดเจน ไม่สร้างความสับสน และมีถึง 25 เขต ที่ไม่ต้องแบ่งเขตเพิ่มเติมใหม่
ขณะที่ นางสุภาภรณ์ ตั้งคำถามว่า กกต. ทำหน้าที่กี่วันภายใน 4 ปีที่ผ่านมา จึงได้แบ่งเขตออกมาแบบนี้ ซึ่งขัดต่อมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องยึดถือการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเดิมเสียก่อน แต่ในแบบที่ 6 และ 7 มีการยกการแบ่งเขตแบบเดิมกลับมาน้อยมาก และรูปแบบที่ 8 ไม่มีการแบ่งเขตแบบเดิมอยู่เลย การแบ่งแบบคร่อมแขวงคร่อมเขตจะส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของทางราชการ
นางสุภาภรณ์ ย้ำว่า ส.ส. ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแก้ไขกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสียงถึงปัญหาในพื้นที่ด้วย สำหรับเขตที่เป็น ส.ส.อยู่นี้คือ เขตภาษีเจริญ ในรูปแบบที่ 7 นั้น ถูกแบ่งเป็นถึง 3 เขตการเลือกตั้ง คือเขตเลือกตั้ง 28 30 และ 32 จึงขอตั้งคำถามว่า กกต. ยึดหลักการใดในการแบ่งเขตเช่นนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า ประชาชนกำลังถูกรัฐประหารผ่านการแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วระบอบประชาธิปไตยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร.-สำนักข่าวไทย