ทำเนียบ 27ธ.ค.- รองโฆษกรัฐบาลเผย ครม. อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา จูงใจเอกชนบริจาคให้สถานศึกษา ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 เห็นชอบอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาจะได้รับบริจาคจากภาคเอกชนตามมาตรการภาษีดังกล่าวปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท ถือเป็นการช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณของรัฐในด้านการศึกษาของประเทศได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะทำให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่จะไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่นๆ
ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาคแต่จะไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา โดยมีช่องทางบริจาคจะต้องเป็นระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e – Donation) ของกรมสรรพากร ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
สำหรับสถานศึกษา 5 ประเภท ที่จะบริจาคเพื่อการลดหย่อนได้มีดังนี้
- สถานศึกษาของรัฐ
- โรงเรียนเอกชนแต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ
- สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
- สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ
- สถาบันอุดมศึกษาซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) อนุมัติโดยความเห็นชอบของ ครม. เช่น มหาวิทยาลัย CMKL มหาวิทยาลัยอมตะ
ซึ่งบริจาคได้ทั้ง 5 ประเภท โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาให้ความเห็นชอบ น.ส.ทิพานัน กล่าวว่าร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 และเพิ่มเติมประเภทของสถานศึกษาให้ครบถ้วนและไม่เกิดความซ้ำซ้อนทางกฎหมาย และให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 และ (ฉบับที่ 655) พ.ศ. 2561 .- สำนักข่าวไทย