เบลเยียม 14 ธ.ค.-นายกฯ หารือประธานคณะมนตรียุโรป ส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
“เพ็ญพร พิพัฒโนทัย” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ติดตามการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ระหว่างวันที่ 12 – 15 ธันวาคม 2565 รายงานว่า เมื่อเวลา 16.20 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีหารือกับนายชาร์ล มีแชล (H.E. Mr. Charles Michel) ประธานคณะมนตรียุโรป ณ อาคาร Europa กรุงบรัสเซลส์ ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมาประชุมกัน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหภาพยุโรปมียุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก เพิ่มบทบาทและปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกับอาเซียนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thai-EU Partnership and Cooperation Agreement : Thai-EU) หรือ PCA ที่สองฝ่ายจะใช้เป็นแผนความร่วมมือระหว่างกันต่อไป บนพื้นฐานค่านิยมร่วม ทั้งพหุภาคีนิยมที่ครอบคลุม ระเบียบระหว่างประเทศที่อิงกฎเกณฑ์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทั้ง อียูและประเทศสมาชิกในการนำแผนปฏิบัติการอาเซียน-อียู ปี ค.ศ. 2023-2027 และ PCA ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ที่เท่าเทียมกันของสองฝ่ายต่อไป
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2022/12/14/1075378/1670987798_354699-tnamcot.jpg)
ขณะที่ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวแสดงความยินดีที่ได้พบหารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน และลงนาม PCA ซึ่งจะเป็นกรอบในการเดินหน้าความร่วมมือต่าง ๆ ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมชื่นชมไทยที่มีบทบาทนำในภูมิภาค หวังว่าจะได้ร่วมมือกับไทยกระชับความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงความยั่งยืนและวาระสีเขียว ซึ่งไทยใช้แนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมเชิญชวนสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก ร่วมสนับสนุนภาคเอกชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น ซึ่งประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับแผนปฏิรูปยุโรปสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal) พร้อมให้ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ รวมทั้งผลักดันการขยายการลงทุน เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการวิจัยด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องการกระชับความร่วมมือท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความมั่นคงโลก โดยไทยเห็นความจำเป็นของการรักษาไว้ซึ่งพื้นที่การหารือที่ครอบคลุมทุกฝ่าย ใช้การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นตัวนำ ซึ่งประธานคณะมนตรียุโรปพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง รวมทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง บุคลากร และแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมหารือเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งกรอบการหารือด้านความมั่นคง เพื่อหารือในประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล และการต่อต้านการก่อการร้ายกับไทยต่อไป
ทั้งนี้ ประธานคณะมนตรียุโรป ยืนยันให้ความสำคัญกับความเป็นแกนกลางของอาเซียน พร้อมร่วมมือกับไทยแสวงหาการหารือที่เปิดกว้าง สร้างสรรค์.-สำนักข่าวไทย