กทม. 30 พ.ย.-ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุม และลงมติในคำร้องที่ยื่นให้วินิจฉัยร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมในเวลา 9.30 น. ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาลงมติคำร้องที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของ ส.ส.และ ส.ว. รวม 105 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 132 ว่าร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
ซึ่งเรื่องนี้ผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ มองว่า การที่ร่างกฎหมายเลือกตั้งพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน มีเหตุควรสงสัยว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐใช้วิธีถ่วงเวลาประชุม จงใจให้กฎหมายไม่เสร็จในกรอบเวลา เพราะมีความได้เปรียบและมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงใช้เทคนิคทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ขัดต่อเจตนารมณ์ของการกำหนดกรอบเวลาเพื่อให้รัฐสภาใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่ให้ใช้เทคนิคทำให้ร่างกฎหมายที่ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 ต้องตกไป แล้วกลับไปใช้แบบหาร 100 จึงไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา
นอกจากนี้ ยังมีประเด็น หากต้องเลือกตั้งใหม่บางหน่วยก่อนประกาศผล ห้ามนำคะแนนแบบเขตที่ต้องเลือกตั้งใหม่มาคำนวณหา ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับ โดยการแก้ไขครั้งนี้ ไม่ได้มีข้อห้ามดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า ถ้าต้องเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผล การคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคพึงได้รับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.
รวมถึงประเด็นที่ระบุว่า ภายใน 1 ปีหลังจากเลือกตั้ง ถ้ามีผู้สมัคร ส.ส.ทุจริตการเลือกตั้ง หรือต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต เพราะการเลือกตั้งในเขตนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริต ให้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ โดยห้ามนำคะแนนเดิมมาคำนวณรวมด้วยนั้น ผู้ร้องมองว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
สำหรับแนวทางการวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เนื้อหาในร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และกระบวนการตราเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก็จะแจ้งผลต่อประธานรัฐสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างกฎหมายนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ และเดินหน้าตามกรอบเวลาไปสู่การเลือกตั้งได้ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ โดยเฉพาะสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่หารด้วย 100 ก็จะไม่ถูกใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย.-สำนักข่าวไทย