ทำเนียบฯ 4 ต.ค.-โฆษกรัฐบาล ย้ำนายกฯ ให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านทางวิทยุ เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด ทั้งมีกฎ กติกา ชัดเจน ที่จะต้องออกอากาศในเวลาที่มีภัยพิบัติ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือ ที่กระทรวงมหาดไทย วานนี้ (3 ต.ค.) เกี่ยวกับเรื่องการสื่อสาร โดยให้เน้นย้ำการแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบและเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น รวมทั้งจะต้องมีแผนสำรองด้านการสื่อสาร โดยนายกรัฐมนตรีย้ำให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านทางวิทยุ เพราะวิทยุถือได้ว่าเป็นสื่อที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด อีกทั้งมีผลสำรวจข้อมูลยืนยัน สื่อวิทยุยังเป็นที่นิยมของประชาชนทุกช่วงวัย
นายอนุชา กล่าวว่า ตามประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ระบุว่า ให้ผู้ประกอบกิจการทุกรายจัดเตรียมความพร้อมในการรับหรือแสวงหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อประโยชน์ในการออกอากาศ แจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ซึ่งผู้ประกอบกิจการจะต้องจำแนกข้อมูลสำหรับแจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ดังต่อไปนี้ (1) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงข่าวสารเพื่อทราบ ซึ่งได้แก่ ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงทั่วไปที่อาจมีผลสืบเนื่องหรือนำไปสู่ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น (2) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการเฝ้าระวัง ซึ่งได้แก่ ประกาศหรือข้อมูลที่มุ่งหมายให้หน่วยงาน องค์กร หรือประชาชน เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (3) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการแจ้งเตือน ซึ่งได้แก่ ประกาศ คำสั่ง หรือหลักเกณฑ์ใดๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นการกำหนดให้หน่วยงาน องค์กร หรือประชาชน จะต้องปฏิบัติตามเพื่อการป้องกันหรือระงับยับยั้งความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
“ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยประสบภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง การปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงมีความสำคัญในการเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการเตรียมพร้อม เพื่อป้องกัน แก้ไขและบรรเทาเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น หรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในช่วงที่เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศขณะนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสื่อสารถึงประชาชนในทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น ซึ่งวิทยุถือได้ว่าเป็นสื่อที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด มีแทบทุกตำบล ทุกอำเภอ มีความเสถียร มีกฎ กติกา ชัดเจนที่จะต้องออกอากาศในเวลาที่มีภัยพิบัติ” นายอนุชา กล่าว
นายอนุชา ยังเผยถึงตัวเลขผลสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ จากจำนวนผู้ฟัง 3,655 คน อ้างอิงจากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. และสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พบว่า อุปกรณ์หลักในการรับฟังวิทยุ จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 68.9 ของกลุ่มผู้ฟังวิทยุ ยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ ทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์ รองลงมาร้อยละ 19.3 รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3G 4G และ wifi ตามมาด้วย ร้อยละ 7.8 เป็นการรับฟังจากวิทยุที่อยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต และน้อยที่สุด ร้อยละ 0.3 เป็นการรับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก แล็ปท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา คลื่นที่ใช้ในการรับฟังรายการวิทยุ จากการสำรวจพบว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 85.9 นิยมรับฟังรายการวิทยุจากคลื่น FM ตามมาด้วยการรับฟังวิทยุออนไลน์ ร้อยละ 17.5 และรับฟังจากคลื่น AM ร้อยละ 11.2 ด้านช่องทางในการรับฟังวิทยุออนไลน์ จากการสำรวจพบว่า ช่องทางสำคัญที่ผู้บริโภคใช้รับฟังวิทยุออนไลน์ คือ การฟังผ่านแอปพลิเคชัน (สัดส่วนร้อยละ 65.9) ส่วนการรับฟังผ่านเว็บไซต์ มีเพียงร้อยละ 39.7
นอกจากนี้ พฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2565 จากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบ FM จำนวน 40 สถานี จากทุกช่องทาง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และข้อมูลการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบ FM ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 สถานี อ้างอิงจาก บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุถึงพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จำนวนผู้ฟังวิทยุรายเดือน แยกตามช่วงอายุ Generation โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2565 ผู้ฟังกลุ่ม Gen X อายุ 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังวิทยุมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคน รองลงมาคือ ผู้ฟังกลุ่ม Gen Y อายุ 20-29 ปี ฟังวิทยุกว่า 3.3 ล้านคน ขณะที่ผู้ฟังกลุ่ม Baby Boomer อายุ 60-71 ปี ฟังวิทยุสูงเกือบ 2 ล้านคน และผู้ฟังกลุ่ม Gen Z อายุ 12-19 ปี ก็มีการฟังวิทยุถึงกว่า 8 แสนคน ซึ่งตัวเลขข้อมูลดังกล่าวนี้สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ช่องทางการสื่อสารผ่านวิทยุเป็นช่องทางที่ยังได้รับความนิยมและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย.-สำนักข่าวไทย