สำนักข่าวไทย 7 ก.ย.-อดีตตุลาการศาล รธน.ชี้ 8 ก.ย. วันสุกดิบ ที่ศาล รธน.นัดหารือว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ คาดนัดวินิจฉัยหลังจากพรุ่งนี้ไม่เกิน 15 วัน ย้ำเป็นปัญหาข้อกฎหมาย รับฟังความเห็นต่างการเมืองพิจารณาได้ แต่นำมาตัดสินไม่ได้
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวไทย” กรณีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิเศษ พรุ่งนี้ (8 ก.ย.) เพื่อกำหนดแนวทางพิจารณากรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า พรุ่งนี้ถือเป็น “วันสุกดิบ” หมายความตามสำนวนไทยว่ายังไม่ใช่วันตัดสินจริง แต่เป็นวันเตรียมความพร้อมสำหรับวันจริงที่จะมาถึงเร็ว ๆ นี้
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าได้ข้อมูลครบแล้ว ก็ต้องนัดประชุมตุลาการเพื่อปรึกษาหารือว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ หากส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าพอแล้วก็จะสั่งให้งดการไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม แล้วจะนัดตัดสินเลย ส่วนจะนัดตัดสินวันไหนขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องยากหรือเรื่องง่าย ซึ่งในกรณีที่เป็นเรื่องทั่วไปจะให้เวลาตุลาการแต่ละท่านใคร่ครวญ เตรียมจัดทำความเห็นของแต่ละคนเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดีที่สุด เพราะจะเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์เผยแพร่ต่อสาธารณชน ส่วนใหญ่จะให้เวลาประมาณ 15 วัน
“คดีนี้มีแต่ปัญหาข้อกฎหมาย ไม่มีปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายก็มีประเด็นเดียวว่าจะเริ่มต้นนับ 8 ปีตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ แล้วท่านจะใช้เวลามากมายกันไปทำไม เราก็คาดว่าท่านน่าจะใช้เวลาสัก 7 วัน ไม่เกิน 15 วัน นี่เป็นความคาดหวังของคนที่มองจากภายนอก จากเหตุการณ์ที่เห็นว่าเดินมาตามขั้นตอนต่าง ๆ จากที่เผยแพร่กันออกไปทางสื่อ ก่อนหน้านี้และมาถึงรอบ semi Final เพื่อจะต่อไปถึงวันนัดตัดสิน ถือว่าจบแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องไปคุยตอบกับประชาชน ประชาชนก็รู้ นักกฎหมายส่วนใหญ่ก็รู้” นายจรัญ กล่าว
ส่วนกรณีที่คำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยแพร่ออกมานั้น อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตามหลักการวินิจฉัยคดีของตุลาการ ไม่ว่าศาลไหน หลักการที่จะต้องใช้เป็นอันดับแรกในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย คือ บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องหาหลักพื้นฐานหรือตัวชี้วัดตัวที่ 2 เข้ามาประกอบด้วย ได้แก่ การค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ต้องไม่ใช่ความคิดเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ใช่เจตนาหรือความต้องการของคนที่บัญญัติกฎหมายขึ้น แต่ความคิดเห็นและความต้องการของคนที่บัญญัติกฎหมายสามารถนำมาเป็นข้อมูลที่ 3 ประกอบได้ แต่น้ำหนักไม่ได้ดีไปกว่าข้อกฎหมายและเจตนารมณ์ ซึ่งในที่นี้ต้องหมายถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งคณะ
“ส่วนข้อมูลอันดับ 4 ความคิดเห็นและข้อมูลของประธานหรือกรรมการ คณะผู้จัดทำกฎหมายนั้น ซึ่งสิ่งที่ฮือฮาในโลกโซเชียลคือความเห็นของนายมีชัยคนเดียว ไม่ใช่มติของ กรธ.ทั้งคณะ จึงถือว่าเอามาใช้ได้ แต่เป็นลำดับที่ 4 ส่วนความเห็นของบุคคลที่ไม่ได้ร่วมจัดทำกฎหมาย แต่เป็นเอกสารที่ฝ่ายนิติบัญญัติจัดทำเก็บไว้ในกระบวนการถกแถลง อภิปรายโต้แย้งในคณะผู้จัดทำกฎหมาย หรือถ้าเทียบก็เป็นบันทึกการประชุมครั้งสุดท้ายของ กรธ. ซึ่งได้ข้อมูลใหม่มาว่ายังไม่มีการรับรองบันทึกการประชุมนั้น ซึ่งตรงนี้แทบจะหมดน้ำหนักไปเลย” นายจรัญ กล่าว
ส่วนกรณีความเห็นของนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายแขนงนั้น ที่ไม่เกี่ยวข้องในการจัดทำรัฐธรรมนูญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้อาจจะมีน้ำหนักสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเรื่องนั้นได้บ้าง แต่สิ่งสำคัญการวิเคราะห์ผลของกฎหมายนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน สอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรค 2 อย่างไรก็ตาม ไม่ขอวิจารณ์ว่าความเห็นของนักกฎหมาย 50 ความเห็น ที่ฝ่ายค้านยื่นไปประกอบการวินิจฉัย แต่ส่วนตัวพูดได้ว่า ความเห็นของตนอยู่ในลำดับที่ 6 ได้ก็บุญแล้ว
“หัวใจไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่อยู่ที่ความถูกต้อง เป็นธรรม ปริมาณอาจจะพาไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมก็ได้ เพราะถ้าเรื่องนี้ตัดสินด้วยปริมาณ ไม่ต้องส่งมาศาลรัฐธรรมนูญ ในรัฐสภาลงมติโหวตกันเสียงข้างมากเอาไป ไม่ต้องไปตระเวนหาที่ไหนด้วย หรือถ้าไม่เอาแนวรัฐสภา ก็ประชุมนักกฎหมายทั่วประเทศ แล้วก็ลงคะแนนเสียงกัน อันนั้นตัดสินด้วยปริมาณ แต่มันจะถูกต้องหรือไม่ ไม่มีใครรับประกันได้ ปัญหากฎหมายยาก ๆ จึงใช้ปริมาณไม่ได้ ต้องใช้ความสุขุมลุ่มลึก และองค์กรที่เป็นอิสระท่ามกลางความขัดแย้งกดดันของฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมมีจิตใจที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่อยู่ในอานัสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ขัดแย้งในสังคม และต้องมีภาพลักษณ์ให้สังคมเชื่อด้วย” นายจรัญ กล่าว
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นปัญหากฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาการเมือง ไม่ใช่ปัญหาพฤติกรรม เป็นปัญหากฎหมายแท้ ๆเพราะฉะนั้นควรจะต้องหาข้อยุติให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม นิติศาสตร์ และยุติธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ใช้ความคิดเห็นต่างการเมือง เพราะไม่ใช่ปัญหาทางการเมือง
“แต่จะบอกว่าไม่เกี่ยวเลยก็ไม่ได้ เพราะผลของมันจะนำไปสู่การได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง เพราะฉะนั้นจะตัดฝ่ายการเมืองว่าจะขับเคลื่อนไม่ให้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ไม่ได้ ก็ต้องให้โอกาสฝ่ายการเมืองได้แสดงเหตุผล ข้อโต้แย้งชี้แจงกันและกัน แต่เราก็ต้องตั้งสติให้ดีว่าการขับเคลื่อนการเมืองเป็นเรื่องการเมือง จะเอามาใช้เป็นข้อยุติชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายไม่ได้ เพราะมันคนละเรื่อง แต่ควรต้องฟัง ไม่ใช่ไม่ยอมให้เขาพูดเลย อันนี้ก็ไม่ถูกในสังคมประชาธิปไตย” นายจรัญ กล่าว.-สำนักข่าวไทย