สำนักข่าวไทย 31 ต.ค. 63 – เตรียมตัวชม “ทุติยเพ็ญ” หรือ “พระจันทร์สีน้ำเงิน” (Blue Moon) ในรอบ 76 ปี ที่เกิดในคืนฮาโลวีน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2!
คืนนี้ (31 ต.ค. 63) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันลอยกระทง และวันฮาโลวีนของประเทศฝั่งตะวันตก จะเกิดปรากฏการณ์ “ทุติยเพ็ญ” หรือ “พระจันทร์สีน้ำเงิน” (Blue Moon) ทุกที่ทั่วโลกหากท้องฟ้าแจ่มใส โดยปรากฏการณ์พระจันทร์สีน้ำเงินที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นพระจันทร์สีน้ำเงินดวงแรกที่ปรากฏในวันฮาโลวีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487
“ทุติยเพ็ญ” หรือ “พระจันทร์สีน้ำเงิน” (Blue Moon) คืออะไร?
ปรากฏการณ์ที่พระจันทร์เต็มดวงที่มีกำหนดเวลาเกิดไม่แน่นอน ส่วนใหญ่ในแต่ละปีจะมีพระจันทร์เต็มดวง 12 ครั้ง เฉลี่ยเกิดประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง แต่หากคิดเฉพาะระยะเวลาที่เกิดดวงจันทร์เต็มดวง 12 ครั้ง (รอบ) ในหนึ่งปีของปฏิทินตามระบบสุริยคติจะมีจำนวนวันมากกว่าประมาณ 11 วัน เมื่อนำมาสะสมรวมกัน จะทำให้ทุกสองหรือสามปีมีพระจันทร์เต็มดวงเพิ่มขึ้นหนึ่งครั้ง โดยพระจันทร์เต็มดวงที่เพิ่มขึ้นมานี้เรียกว่า “ดวงจันทร์สีน้ำเงิน”
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ “ทุติยเพ็ญ” หรือ “พระจันทร์สีน้ำเงิน” (Blue Moon) นั้นเป็นเพียงชื่อเรียกปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน เพื่อให้เกิดความแตกต่าง ระหว่างคำว่า ฟูลมูน (Full Moon) กับบลูมูน (Blue Moon)
แล้วปรากฏการณ์พระจันทร์สีน้ำเงินมีจริงหรือไม่?
ปรากฏการณ์พระจันทร์สีน้ำเงินนั้นเกิดจากตาของเราเห็นแสงสีน้ำเงินที่สะท้อนจากอนุภาคของฝุ่นควันในบรรยากาศ แทนการเห็นแสงสีแดงที่สะท้อนมาจากดวงจันทร์ตามปกติ มักจะเกิดขึ้นภายหลังการเกิดภัยธรรมชาติ ที่มีฝุ่นควันมหาศาลล่องลอยสู่บรรยากาศ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัว ในปี พ.ศ. 2426 และการระเบิดภูเขาไฟปินาตูโบ ในปี พ.ศ. 2534
หากท้องฟ้าแจ่มใส อย่าลืมออกไปชมปรากฏการณ์พระจันทร์สีน้ำเงินกันนะคะ.-สำนักข่าวไทย