สำนักข่าวไทย 11 ส.ค.- ดอกมะลิ ดอกไม้สีขาวแม้ดูบอบบาง แต่มีคุณประโยชน์มากมายและยังมีกลิ่นหอมละมุน คือสัญลักษณ์แห่งความรักอันบริสุทธิ์ที่สุดแสนยิ่งใหญ่จากแม่ที่มีให้แก่ลูก มีความเชื่อจากชาวอินเดียว่าดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำองค์พระนารายณ์ เวลาทำพิธีบูชาพระนารายณ์จะใช้ดอกมะลิเป็นของถวายหลัก นอกจากนี้ยังสามารถนำดอกมะลิมาร้อยเป็นพวงมาลัยบูชาพระได้ ดังนั้น ดอกมะลิจึงเปรียบเสมือนการบูชาพระคุณของแม่ และเป็นสื่อที่แสดงถึงความกตัญญูที่ลูกมีต่อแม่อีกด้วย
ประวัติวันแม่แห่งชาติ
วันแม่แห่งชาติ ในประเทศไทย ปัจจุบันตรงกับวันที่ 12สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเริ่มใช้วันดังกล่าวเป็นวันแม่แห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2519 งานวันแม่แห่งชาติจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข ต่อมามีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
รู้จัก “ดอกมะลิ” ดอกไม้ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งวันแม่
มะลิ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Jasminum; อังกฤษ: Jasmine; อินโดนีเซีย: Melati) ดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เมื่อได้กลิ่นจะรู้สึกชื่นใจ และออกดอกตลอดทั้งปี เป็นไม้ยืนต้น พบได้ในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก จนถึงขนาดกลาง บางชนิดมีลำต้นแบบเถาเลื้อย ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-3 เมตร ออกดอกเป็นช่อ ออกตามส่วนยอดหรือง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว และมีกลิ่นหอม ดอกมีกลีบดอกประมาณ 6-8 กลีบ เรียงกันเป็นวงกลมหรือซ้อนกันเป็นชั้นแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ขนาดดอกบานเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นและดอกแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์.
มะลิมีหลากหลายชนิดพันธุ์
มะลิพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่
- มะลิไส้ไก่
- มะลุลี
มะลิพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มักออกดอกตลอดทั้งปี ได้แก่
- มะลิซ้อน
- มะลิลา
- มะลิหลวง
- มะลิพุทธชาด
- มะลิฉัตรพิกุล
- มะลิฉัตรดอกบัว
- มะลิจันทรบูร
- มะลิก้านแดง