ยธ. 28 ก.ค.-กรมคุ้มครองสิทธิฯ แจงสิทธิเยียวยาทหาร-พลเรือน “บาดเจ็บ-เสียชีวิต” เหตุชายแดนไทย-กัมพูชา สูงสุด 200,000 บาท แนะญาติและครอบครัวเข้าแจ้งความตำรวจออกเลขคดีอาญา เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัด
นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มี พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 ซึ่งผู้เสียหายที่จะได้รับการช่วยเหลือจะต้องเป็นผู้ที่ 1.ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ 2.เป็นการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น 3.ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่ง “การไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” คุณสมบัตินี้เข้าเกณฑ์อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการถูกลูกหลง แต่ “ความผิดอาญาของผู้อื่น” ก็ต้องมีการตีโจทย์ก่อนว่า “ผู้อื่น” ในที่นี้ หากหมายถึงกองกำลังต่างประเทศ ก็ต้องดูว่าเข้าข่ายหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาแล้วเข้าข่ายถือว่าเป็น “ผู้อื่น” ตามประมวลกฎหมายอาญาไทย ก็ต้องไปดูต่อว่าสามารถให้การเยียวยาได้หรือไม่ ซึ่งมันก็จะไปขึ้นอยู่กับ “ความผิดอาญา” เพราะในวิธีปฏิบัติสำหรับการพิจารณา จะต้องมีการรับเป็นเรื่องคดีอาญา/มีเลขคดีอาญาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ดังนั้น หากตำรวจรับแจ้งความและมีเลขคดีอาญา ก็จะเข้าเงื่อนไขในการพิจารณาเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาได้
นายธีรยุทธ เผยอีกว่า สำหรับขั้นตอนว่าต้องรอสำนวนแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวไปถึงชั้นศาลก่อนหรือไม่ จึงจะมีการเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาได้นั้น ตนขอเรียนว่าไม่จำเป็นต้องถึงชั้นศาล เพราะเรื่องนี้ชัดเจนว่าผู้เสียหายไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และถ้าหากตำรวจมีการสรุปความเห็นว่าผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดชัดเจน คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ประจำจังหวัดนั้น ๆ สามารถใช้ความเห็นของพนักงานสอบสวนประกอบการพิจารณาได้
นายธีรยุทธ เผยต่อว่า ส่วนขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาประจำจังหวัด จะมี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และมียุติธรรมจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยอื่นเกี่ยวข้องร่วมเป็นอนุกรรมการ อาทิ ตำรวจ อัยการ แพทย์ ทนายความ ผู้แทนภาคประชาสังคม เป็นต้น ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ จะมีมติว่าเห็นสมควรจ่ายให้ทายาทของผู้เสียชีวิต/ผู้เสียหายรายใดบ้าง และรายละกี่บาท เพื่อจะได้ทำสรุปรายงานการประชุมแจ้งมายังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเพื่อทำเรื่องเบิกเงินช่วยเหลือต่อไป
นายธีรยุทธ เผยด้วยว่า สำหรับสิทธิการช่วยเหลือเยียวยา กรณีหากคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ มีมติเห็นชอบตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 จะเป็นเงินจำนวนตั้งแต่ 110,000-200,000 บาท ดังนี้ ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย 100,000 บาท กรณีเป็นเหตุอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญและเป็นที่สนใจของสาธารณชน, ค่าจัดการศพ 20,000 บาท, ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท กรณีบิดามารดายังมีชีวิต 4.ค่าเสียหายอื่น 40,000 บาท กรณีเป็นเหตุอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญและเป็นที่สนใจของสาธารณชน ส่วนผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บ มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 40,000 บาท, ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ไม่เกิน 20,000 บาท, ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ตามค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่จังหวัดที่ประกอบการงาน ไม่เกิน 1 ปี และค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ๆ ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ ทั้ง 2 กรณีขึ้นอยู่กับการสรุปความเห็นเกี่ยวกับคดีของพนักงานสอบสวน และการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ประจำจังหวัดเป็นสำคัญ
นายธีรยุทธ ปิดท้ายว่า ตลอดห้วงเวลาภายหลังเกิดเหตุการณ์ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้สั่งการให้กรมคุ้มครองสิทธิฯมอบหมายเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และยุติธรรมจังหวัด ลงพื้นที่ตามจังหวัดที่เกิดเหตุ พร้อมประสานกับทางจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นที่ศูนย์อพยพ เพื่อรับเรื่องและให้คำแนะนำทางกฎหมาย รวมถึงแจ้งสิทธิได้รับการพิจารณาเงินค่าช่วยเหลือเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559.-สำนักข่าวไทย