กรุงเทพฯ 15 พ.ย. – กรมปศุสัตว์เตรียมนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับการให้ยาแมวเข้าฉากละคร “แม่หยัว” ให้แก่พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินคดี จากที่พบว่า ผู้ให้ยาแก่แมวไม่ใช่สัตวแพทย์ แต่เป็นโมเดลลิ่งที่นำแมวมาเข้าฉาก โดยอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 และ พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545
นายสัตวแพทย์บุญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ ตุนาค ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ว่า ผู้เกี่ยวข้องกับกรณีการให้ยาแมวเพื่อเข้าฉากละครแม่หยัวได้มาให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการแล้ว ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 ผู้กำกับละคร และโมเดลลิ่ง พร้อมกันนี้ได้นำ “น้องสำลี” แมวดำในฉากละครมาให้ตรวจสอบด้วย
จากการตรวจสอบพบว่า เป็นแมวตัวเดียวกัน “น้องสำลี” อายุ 5 ปี หนัก 5.5 กิโลกรัม สัตวแพทย์ตรวจร่างกายโดยทั่วไป (physical examination) และตรวจเลือดดูค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจการทํางานของตับและไต รวมทั้งเอกซเรย์ช่องอกเพื่อดูความผิดปกติของปอดและตรวจวัดขนาดของหัวใจ ตลอดจนเอกซเรย์ช่องท้อง ณ สถานพยาบาลสัตว์ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ พบว่า แข็งแรงสมบูรณ์ ผลเลือดปกติ และไม่พบความผิดปกติใดๆ
จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ให้ยาแมว ไม่ใช่สัตวแพทย์ แต่เป็นโมเดลลิ่งที่นำแมวมาเข้าฉาก โดยให้ยาในกลุ่มยานำสลบซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 และพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545
ดังนั้นจะเร่งรวบรวมข้อมูลนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางปู จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำละครเพื่อพิจารณาดำเนินคดี
สำหรับพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มีบทบัญญัติตามมาตรา 24 กำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมสำหรับการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง แม้ยังไม่มีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในการนำสัตว์มาใช้ในการแสดงไว้เป็นการเฉพาะ แต่เจ้าของสัตว์หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องปฏิบัติโดยมีหลักการจัดสวัสดิภาพสัตว์กล่าวคือ การใช้งานสัตว์ต้องมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม ทั้งอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมธรรมชาติ ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้สัตว์เกิดความหวาดกลัวหรือระแวง ไม่ควรนำสัตว์ไปทำงานอันไม่สมควรที่อาจทำให้สัตว์นั้นเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตซึ่งอาจเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์
ส่วนการกระทำใดๆ ต่อร่างกายสัตว์ ที่เข้าลักษณะการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสัตวแพทย์ โดยข้อยกเว้นตามมาตรา 21 (7) (10) และ (11) แห่งพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ต้องเป็นการกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือ การกระทำอื่นใดที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ หรือ การกระทำอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์
บทกำหนดโทษตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้หากเจ้าของสัตว์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตรามมาตรา 22 มาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท. 512 – สำนักข่าวไทย