ทุกวันที่แสงตะวันยังไม่ทันโผล่ขึ้นฟ้า “กีบหมู” แหล่งรวมผู้ใช้แรงงานอิสระ ช่างก่อสร้างหลากหลายสาขา ต่างมายืนรองานตั้งแต่เช้ามืดพร้อมอุปกรณ์คู่ใจ ด้วยความหวังว่าจะมีผู้ว่าจ้างมาเรียกใช้ ให้มีงาน มีเงินมาใช้หล่อเลี้ยงชีวิต แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกวัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีนายจ้างมาเรียกใช้งาน มิหนำซ้ำโควิดเจ้ากรรมยังรุนแรงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงกลางปี 2564 ไม่มีทีท่าจะเบาลง ส่งผลให้ทุกชีวิตเหมือนอยู่ท่ามกลางทะเลที่มีคลื่นลมพัดมาไม่รู้จบ
.
เช้าวันนี้ก็ยังเป็นเหมือนทุกวัน “ป้าดี” อายุ 73 ปี ชาวบุรีรัมย์ อาชีพช่างฉาบปูน ยืนถือเกรียงรออย่างมีความหวังว่าจะมีผู้รับเหมามาว่าจ้าง “ป้าดี” เล่าว่า ก่อนหน้านี้ยังพอมีงานให้ได้เลี้ยงปากท้อง แต่มาโควิดรอบสาม สาหัสเพราะงานแทบไม่มี วันไหนยืนรอไม่มีผู้ว่าจ้าง “ป้าดี” จะไปเก็บผักบุ้งริมคลอง มัดเป็นกำเพื่อนำไปขาย รายได้หลัก 10 ต่อวันพอประทังชีวิต
.
ส่วนมาตรการเยียวยาของรัฐที่ผ่านมา ทั้ง “โครงการคนละครึ่ง-เราไม่ทิ้งกัน-เราชนะ” “ป้าดี” ไม่เคยได้รับ เพราะเป็นแรงงานนอกระบบ โทรศัพท์ไม่ใช่สมาร์ทโฟนใช้เพียงโทรเข้า-โทรออก ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี จึงเข้าไม่ถึงโครงการต่างๆ สุดท้ายกลายเป็น “คนตกหล่น” รายได้ทางเดียว คือ ใช้ฝีมือด้วยหยาดเหงื่อแลกเงินเพื่อเลี้ยงชีวิต
.
ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช
เรื่อง กมลเนตร นวลจันทร์
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/13/1488348/1739427813_915435-tnamcot.jpg)