14 ก.ค.2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชกา กรุงเทพมหานคร พร้อม เครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand ร่วมแถลงข่าว “โครงการบ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” นับถอยหลัง 80 วัน จัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะใหม่ ซึ่งจะเริ่มเดือนตุลาคม 2568 นี้
.
โดยกรุงเทพมหานครได้ตราข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2568 เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการร่วมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดหรือต้นทาง สอดคล้องกับสภาวการณ์และค่าใช้จ่ายปัจจุบัน โดยข้อบัญญัติฉบับดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 180 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายน 2568 โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ จากเดิม 20 บาทต่อเดือน เป็น 60 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2568 เป็นต้นไป
.
ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อบริหารจัดการขยะ ที่ต้องกำจัดกว่า 10,000 ตัน/วัน การที่กรุงเทพมหานครได้ตราข้อบัญญัติฉบับนี้ โดยมีการปรับขึ้นอัตราค่าธรรมเนียม การจัดการขยะ จึงไม่ใช่เหตุผลเดียวในการแก้ปัญหาการจัดการขยะ แต่เพื่อใช้กลไกของค่าธรรมเนียมช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะอย่างน้อย 4 ประเภท
.
ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ผ่านโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” เพื่อลดปริมาณขยะเป้าหมาย 1,000 ตัน/วัน ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครได้วันละ 2 ล้านบาท นอกจากนี้ การแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ขาย หรือบริจาคขยะ ก่อนส่งให้ กทม. นำไปกำจัด จะเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและเพิ่มรายได้หากนำไปขายด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลประเภทของขยะพบว่ากว่า 50% ของขยะในกรุงเทพมหานคร คือ ขยะเศษอาหาร ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน ส่งผลให้ขยะประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามประเภทของขยะนั้น ๆ ด้วย
.
อัตราค่าธรรมเนียมขยะใหม่ (เริ่ม ตุลาคม 2568) การปรับค่าธรรมเนียมขยะใหม่นี้ครอบคลุมขยะทุกประเภท ได้แก่ มูลฝอยทั่วไป มูลฝอยติดเชื้อ สิ่งปฏิกูล และไขมันสำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการมูลฝอยทั่วไป (รายเดือน) แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่
- กลุ่มที่ 1: บ้านพักอาศัยทั่วไป (ปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน)
- ไม่คัดแยกขยะ: จ่ายรวม 60 บาทต่อเดือน (ค่าเก็บ 30 บาท, ค่ากำจัด 30 บาท)
- คัดแยกขยะและลงทะเบียน: จ่าย 20 บาทต่อเดือน (ค่าเก็บ 10 บาท, ค่ากำจัด 10 บาท)
- กลุ่มที่ 2: สถานที่ที่ผลิตมูลฝอยเกิน 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร
- อัตราค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อหน่วย (1 หน่วย = 20 ลิตร) ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเดิม โดยใช้หลักการ “จ่ายตามปริมาณที่ทิ้ง” (PAYT Model) เพื่อส่งเสริมการคัดแยก
- กลุ่มที่ 3: สถานที่ที่ผลิตมูลฝอยมากกว่า 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน
- อัตราค่าธรรมเนียม 8,000 บาทต่อหน่วย (1 หน่วย = 1 ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากเดิม เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตขยะปริมาณมากและมีศักยภาพในการคัดแยก
ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช