16 ส.ค.66 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ พร้อมองค์กรเครือข่าย ร่วมจัดงานครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี ที่สวนประติมากรรมธรรมศาสตร์ บริเวณชิ้นงาน ‘ธรรมศาสตร์กับขบวนการเสรีไทย’ โดยมีผู้แทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกอัครราชทูต คณะทูตานุทูต ผู้แทนทายาทเสรีไทย เข้าร่วมงาน
.
วันสันติภาพไทย คือวันครบรอบการประกาศสันติภาพ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 โดยภายในงานมีพิธีวางช่อดอกไม้ ที่ประติมากรรม ธรรมศาสตร์กับขบวนการเสรีไทย และกล่าวแสดงความสำคัญ ปาฐกถา ถึงความสำคัญ ความชาญฉลาดทางการทูต และการเสียสละของขบวนการเสรีไทยที่ทำให้ประเทศไทย ไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม
.
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานในงาน กล่าวว่า ในบรรดาวันสำคัญทั้งหลายของประเทศ ตนคิดว่าวันที่ 16 สิงหาคม เป็นอีกหนึ่งวันที่คนไทยควรรำลึกถึง เมื่อ 78 ปีที่แล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกาศสงครามกับสหประชาชาติ และสหราชอาณาจักร หลังสงครามฝ่ายที่เราเข้าร่วมด้วยแพ้สงคราม แต่ประเทศไทยไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม ด้วยเหตุผลของการดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาดของผู้บริหารที่ดูแลประเทศไทยในเวลานั้น เราประกาศว่าการประกาศสงครามเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันชาวไทย หลังการประกาศทางการทูต สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ตกลงกับขบวนการเสรีไทยมาตั้งแต่ต้น และเป็นพี่ใหญ่ของโลกในขณะนั้น ได้ประกาศรับรองการประกาศสันติภาพและการประกาศว่าการที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นประกาศสงคราม ไม่ผูกพันกับคนไทย
.
ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า ซึ่งหากมองในแง่ที่เลวร้ายเราต้องตกเป็นประเทศแพ้สงคราม ต้องชำระค่าปฏิกรรมสงคราม ต้องถูกจำกัดสิทธิในการปกครองตนเอง ต้องถูกฐานทัพของประเทศสัมพันธมิตรมาตั้งอยู่เพื่อควบคุมการดำเนินกิจกรรมของประเทศ แต่ด้วยวันนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศซึ่งไม่แพ้สงครามและได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสัมพันธมิตรโดยขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.
“เวลาอาจผ่านไปนานมาก และคนไทยอาจลืมเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ในมุมของคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เมื่อ 78 ปีที่แล้ว หลังสงครามโลก ประเทศไทยอาจไม่มีวันเหมือนที่เรายืนอยู่ในวันนี้ จะต้องกลายสถานะเป็นดินแดนในการดูแล เราอาจต้องจัดพรหมแดนของประเทศใหม่ 78 ปี มันอาจจะนานมาก และคนไทยอาจจะลืมเลือนเรื่องนี้ไปแล้ว แต่นี่คือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชนชาติไทย”
.
ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช






