8 มี.ค.2566 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดกิจกรรมเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี
.
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ.2518) เป็นต้นมา สหประชาชาติ ให้ความสำคัญจัดงานอย่างเป็นทางการ ประกาศให้เป็น “วันสตรีสากล” (International Women’s Day) ด้านหนึ่งเป็นวันที่จะเฉลิมฉลอง เพื่อให้สตรี มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในภาคสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค เท่าเทียม ที่ยังดำรงอยู่ ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก พัฒนาสังคมประเทศ และมีผู้หญิงในหลายประเทศก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ สำหรับประเทศไทยจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายขบวนการแรงงานและเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มเพศสภาพ และสาขาอาชีพต่างๆ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เรื่องสิทธิ เสรีภาพ มากยิ่งขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพของผู้หญิงมากขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ผู้หญิงยังคงถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกมากมายหลายมิติ วันสตรีสากลในปีนี้ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้หญิง ต้องการให้รัฐบาลบูรณาการแก้ไข ดำเนินการทางนโยบาย กฎหมาย เพื่อปกป้องคุ้มครอง และเยียวยาสิทธิของผู้หญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ตามหลักการองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการทำธุรกิจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จากสถานการณ์วิกฤติโควิด ที่ส่งผลกระทบให้แรงงานหญิง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องเผชิญการถูกเลิกจ้าง ลอยแพ และการถูกละเมิดสิทธิทางเพศ ถูกเอารัดเอาเปรียบที่รุนแรงเพิ่มเป็นทวีคูณมากขึ้น ความล่าช้า ความยากลำบากในการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อขบวนการยุติธรรมที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ทั้งช่องว่างของกฎหมาย ทำให้สูญเสียสิทธิและขาดโอกาสในการทำงานที่มั่นคง ยั่งยืน ไร้ความเป็นธรรมส่งผลถึงคุณภาพชีวิตทั้งตนเองครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ “ต่อต้านทุนนิยมเสรีกดขี่แรงงาน-หญิง” จึงถูกกำหนดให้เป็นคำขวัญในการรณรงค์วันสตรีสากลเพื่อสะท้อนสภาพปัญหาดังกล่าว และข้อเรียกร้องในวันสตรีสากล ให้เกิดขึ้น คสรท. และ สรส. จึงขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ดังนี้
.
***ข้อเรียกร้องวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ประกอบด้วย
- รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับต่าง ๆ ดังนี้ ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน โดยเฉพาะการเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์ และการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็น คดีอาญาที่ยอมความไม่ได้
- รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100% และให้เร่งรัดการจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด 98 วันตามมติ ครม. ที่เห็นชอบ ให้ครบถ้วน
- รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ รวมถึงหามาตรการปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เป็นไปตามหลักการการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบัน
. - รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 3,000 บาท
- รัฐต้องกำหนดสัดส่วนหญิง ชาย และเพศสภาพ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
- รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณี
- รัฐต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- รัฐต้องให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33
- ขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับทางการเมียนมาให้แรงงานสามารถต่อเอกสารในประเทศไทยได้ข้อเรียกร้องนี้ ได้เสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานานหลายปี เพื่อตอกย้ำให้รัฐบาลทุกรัฐบาลได้มีจิตสำนึกและตระหนักถึงหน้าที่ในการดูแลประชาชน คนงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนงานทุกภาคส่วน
.
ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช