สมุทรสาคร 22 ก.ค. – สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและสมาคมการประมง 16 จังหวัดที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ เสนอให้รัฐบาลยกระดับการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมการประมง และนักวิชาการ ร่วมแก้วิกฤติ พร้อมเสนอให้ผ่อนผันใช้เครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูงในการจับปลาหมอคางดำ
นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยนำสมาคมการประมง 16 จังหวัดที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำหรือดับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง
สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัญหาการระบาดของปลาหมอสีคางดำซึ่งเป็นสัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่นถือว่า วิกฤติมาก โดยการระบาดเกิดขึ้นมานานถึง 14 ปีเป็นภัยร้ายที่ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนตามแนวชายฝั่ง รวมถึงรุกรานเข้าไปยังแหล่งน้ำต่างๆ กินสัตว์น้ำวัยอ่อนไปจนหมด ดังนั้นรัฐบาลต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ดำเนินการโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธาน อธิบดีกรมประมงเป็นเลขานุการเพื่อให้สามารถบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้ามกระทรวงได้ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจังหวัดซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้มีหน่วยงานอื่นมาสนับสนุนกรมประมง ตลอดจนจะมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและไม่ต่างคนต่างทำในแต่ละจังหวัด
นอกจากนี้กรมประมงต้องออกประกาศผ่อนผันให้สามารถใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการผ่อนผันกฎหมายให้ชาวประมงสามารถใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพทำการประมงได้ในแม่น้ำ ลำคลอง และชายฝั่ง จนเมื่อจำนวนปลาหมอคางดำลดลงจึงค่อยใช้เครื่องมืออื่นเก็บกวาด
ตลอดจนกำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนที่แหล่งน้ำสาธารณะเช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ชายฝั่งทะเล รวมถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประชาชนที่มีปลาหมอคางดำระบาดอยู่ เพื่อใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบ
รวมทั้งกำหนดให้ประมงจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมกับสมาคมประมงในพื้นที่ ประสานชาวประมงรับลงทะเบียนเรือประมง ชาวประมงที่จะมาเข้าร่วมโครงการกำจัดปลาหมอคางดำเพื่อควบคุมให้อยู่ในระบบข้อมูลทางการ
พร้อมกันนี้เสนอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนในการกำจัดปลาหมอคางดำให้แก่ชาวประมงเช่น ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องมือ ค่าอุปกรณ์ ค่าแรงงาน สนับสนุนราคาปลาหมอคางดำในราคา 15 บาท ภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ชัดเจน (3-6 เดือน) เพื่อเร่งรัดการกำจัด และป้องกันการลักลอบเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เป็นต้น
นอกจากนี้เสนอให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด โดยให้มีประมงจังหวัด เป็นประธาน ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนสมาคมประมงจังหวัด ผู้แทนชาวประมง ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมเป็นกรรมการ เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดเป็นเลขานุการ ให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ กำกับ ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการใช้งบประมาณสนับสนุนให้กับเรือประมง ชาวประมง ที่เข้าร่วมโครงการ และแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจตามความจำเป็น รวมทั้งรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่พบระหว่างการดำเนินการ พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และอาจจะเสนอปัญหาต่างๆ ให้แก่กรมประมง เพื่อช่วยพิจารณาแก้ไข
ขอให้คณะทำงานเฉพาะกิจจังหวัดต่างๆ ประสานความร่วมมือกับเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ช่วยแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยงต่อคณะทำงานฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลและร่วมมือในการกำจัดปลาหมอคางดำ จากแหล่งเพาะเลี้ยงของเกษตรกร ภายใต้คณะทำงานดังกล่าว ให้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจรับแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยให้มีการตั้งกลุ่มไลน์และช่องทางสื่อสารอื่นๆ ในการรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ในจังหวัดนั้นๆ ว่า มีพื้นที่ใดที่มีปลาหมอคางดำระบาดโดยประสานคณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการกำจัดโดยเร่งด่วน
ส่วนการปล่อยปลานักล่า ขอให้พิจารณาว่า พื้นที่ไหนที่ได้กำจัดปลาหมอคางดำจนเหลือน้อยแล้ว ให้เริ่มปล่อยปลานักล่าตัวใหญ่จำนวนมากพอ ลงไปใน แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เพื่อให้ปลานักล่ากินลูกปลาหมอคางดำเพื่อตัดวงจรชีวิตปลาหมอคางดำให้หมดไปโดยเร็ว หลังจากนั้น ให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยา เช่น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นทดแทน เป็นต้น .512 .- สำนักข่าวไทย