ภูเก็ต 18 พ.ค. – กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งติดตั้งตาข่ายพรางแสง (Shading) บริเวณแนวปะการังด้านทิศตะวันออกของเกาะไม้ท่อน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อช่วยชีวิตปะการังจากปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” เหตุอุณหภูมิน้ำทะเลสูงต่อเนื่อง
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า กำลังเร่งลดระดับความรุนแรงของปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” โดยให้กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบนร่วมกับเจ้าหน้าที่จากโรงแรมเกาะไม้ท่อนติดตั้งตาข่ายพรางแสง (Shading) บริเวณแนวปะการังด้านทิศตะวันออกของเกาะไม้ท่อน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สาเหตุจากที่แนวปะการังทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเกิดการฟอกขาว โดยระดับความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งเริ่มพบตั้งแต่เดือนเมษายนจะเกิดต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นผลกระทบจากอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยจากภาวะเอลนีโญ โดยสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสต่อเนื่องทำให้ปะการังขับสาหร่ายซูแซนเทลลีออกมา ซูแซนเทลลีคือ สาหร่ายเซลล์เดียวที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญและทำให้ปะการังมีสีสัน ปะการังจึงอ่อนแอและกลายเป็นสีขาวโพลน หากอุณหภูมิสูงต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ ปะการังจะตาย
ขณะนี้พบความรุนแรงในฝั่งอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามัน โดยพบมากกว่า 50% ของพื้นที่แนวปะการังฝั่งอ่าวไทยเช่น พื้นที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะคราม จังหวัดชุมพร ส่วนในฝั่งอันดามันพบการฟอกขาวไม่เกิน 20% ส่วนใหญ่เกิดในบริเวณที่มีความลึกไม่เกิน 2 เมตรเช่น เกาะรอก จังหวัดตรัง
ในการติดตั้งตาข่ายพรางแสงบริเวณแนวปะการังด้านทิศตะวันออกของเกาะไม้ท่อน จะมีการทดลองเปรียบเทียบระหว่างปะการัง 3 แปลงได้แก่ ปะการังที่มีลักษณะสีซีด ปะการังฟอกขาวและปะการังปกติเพื่อเปรียบเทียบกับปะการังชนิดเดียวกันในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ที่ไม่ได้กางตาข่ายพรางแสง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะพยายามช่วยชีวิตปะการังโดยดำเนินการตามหลักวิชาการ เช่น การลดปริมาณแสงโดยการใช้วัสดุปิดบังแสงในแนวปะการังน้ำตื้น และการย้ายปะการังบางชนิดลงไปในระดับน้ำที่ลึกมากขึ้น และที่มีอุณหภูมิน้ำต่ำกว่าปกติ เพื่อให้ปะการังได้พักฟื้นกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ดังเดิมอีกครั้ง อีกทั้งประสานให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชพิจารณาปิดจุดดำน้ำบางแห่งที่พบปะการังฟอกขาวเป็นจำนวนมากเพื่อลดปัจจัยที่ทำให้ปะการังเครียด
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชสำรวจพบพื้นที่ที่เกิดปะการังฟอกขาวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทย 6 แห่งและอันดามัน 6 แห่ง ปัจจุบันประกาศปิดเกาะปลิงในอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ตแล้ว ที่เฝ้าระวังพิเศษยังมีเกาะจาน อุทยานแห่งชาติหาดวนกร เกาะคราม เกาะง่ามน้อย และเกาะง่ามใหญ่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรที่พบการฟอกขาว 60-80% จึงเตรียมปิดแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เฝ้าระวังเพิ่มเติมในอุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้ง 12 แห่ง
สำหรับอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทยที่พบปะการังฟอกขาว 6 แห่งได้แก่
– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง
– อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด
– อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
– อุทยานแห่งชาติหาดวนกร
– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร
– อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้
ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามันที่พบปะการังฟอกขาว 6 แห่งได้แก่
– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
– อุทยานแห่งชาติสิรินาถ
– อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
– อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี
– อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี
พื้นที่แนวปะการังในท้องทะเลไทยมี 149,182 ไร่ ชนิดพันธุ์ปะการังที่พบในไทย 273 ชนิดจาก 800 ชนิดที่พบทั่วโลก ชนิดพันธุ์เด่นที่พบได้ในไทย ได้แก่ ปะการังโขด เขากวาง ลายดอกไม้ และสมองร่องยาว
ขอความร่วมมือไปยังประชาชนในพื้นที่ หากพบเห็นการเกิดปะการังฟอกขาว สามารถแจ้งข่าวสารผ่านเว็บไซต์ https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th/th เพื่อทุกฝ่ายจะได้เตรียมพร้อมรับมือและลงพื้นที่ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด. 512 – สำนักข่าวไทย