ชลบุรี 3 มี.ค. – “หมอช้าง” เผยการทำธุรกิจปางช้างของฝรั่งเตะหมอที่จังหวัดภูเก็ต เป็นโอกาสที่คนไทยจะได้รับรู้ว่าแนวคิดเลี้ยงช้างแบบโลกสวย “no hook, no chain” ไร้ตะขอ ไร้โซ่ ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของคนไทย โดยปางช้างที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ หรือ Sanctuary Park มักเลือกเฉพาะช้างที่เชื่องมากๆ ช้างเด็ก ช้างแก่ และช้างป่วย คิดค่าเข้าชมสูง ทั้งยังจัดตั้งมูลนิธิหาเงินบริจาคเป็นช่องทางการหาเงินจากความสงสารของชาวต่างชาติ
นายสัตวแพทย์เผด็จ ศิริดำรงหรือ “หมอหนึ่ง” สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นสัตวแพทย์ที่รักษาทั้งสัตว์เล็ก สัตว์ป่า และช้างมา 29 ปีกล่าวว่า ประเด็นชาวต่างชาติมาทำปางช้างในไทยได้รับความสนใจเป็นวงกว้างจากกรณีที่ชาวต่างชาติทำร้ายแพทย์หญิงที่จังหวัดภูเก็ต จึงต้องการให้โอกาสนี้คนไทยได้รับรู้ถึงเบื้องหลังของการทำธุรกิจประเภทนี้ของชาวต่างชาติ โดยอาศัยกระแสโลกสวยที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปต่อต้านการมาเที่ยวเมืองไทย โดยเฉพาะหากมีโปรแกรมมาเที่ยวปางช้างซึ่งถือว่า เป็นการส่งเสริมการทารุณกรรมสัตว์เนื่องจากใช้ขอในการควบคุมช้าง ใช้โซ่ล่าม หรือแม้กระทั่งการนั่งช้างบนกูบหรือแหย่ง รวมถึงการขี่ช้างและการให้ช้างแสดงความสามารถพิเศษก็ถูกมองว่า เป็นการทารุณกรรมช้าง
การปลุกกระแสนักท่องเที่ยวชาวยุโรปให้ต่อต้านการมาเที่ยวปางช้างในไทยรุนแรงขึ้นช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 จึงเป็นโอกาสให้นักธุรกิจต่างชาติสบช่องสร้างกระแสการเลี้ยงช้างแบบใหม่คือ “no hook, no chain” หรือเลี้ยงช้างแบบอิสระ “Sanctuary Park” ไม่ใช้ขอ ไม่ล่ามโซ่ ไม่ขี่ช้างเพราะไม่สนับสนุนการทรมานสัตว์
หมอหนึ่งกล่าวว่า ปางช้างประเภท Sanctuary Park หรือเรียกว่า กึ่งอนุรักษ์ โดยจะเลือกเฉพาะช้างที่เชื่องมากๆ ช้างเด็ก ช้างแก่ ช้างผอม หรือช้างป่วยเรื้อรัง ยิ่งสภาพทรุดโทรมมากเท่าไร ยิ่งกระชากเงินจากความสงสารได้มากเท่านั้น เห็นได้ว่า จะเลือกเฉพาะช้างเพศเมีย ไม่เลี้ยงช้างเพศผู้หรือช้างงา ค่าเข้าชมและทำกิจกรรมเช่น ให้อาหารช้าง อาบน้ำให้ช้าง จะสูงกว่าปางช้างของคนไทย อีกทั้งจัดตั้งมูลนิธิหาเงินบริจาคโดยอ้างเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงช้างแบบไม่ทารุณกรรมสัตว์ ลักษณะดังกล่าว เป็นการทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการปางช้างไทย
จากที่ได้ไปรักษาช้างในปางต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า ปางช้างแบบ Sanctuary Park ที่ว่า เลี้ยงปล่อยอิสระ กลับปรากฏว่า กลางวันปลดโซ่ กลางคืนล่ามโซ่ เจ้าของปางอาจไม่มีช้างเป็นของตัวเอง แต่ใช้วิธีเช่าช้าง โดยให้ราคาสูงกว่าปางช้างของคนไทย จากประมาณเดือนละ 10,000 – 30,000 บาทขึ้นอยู่กับความสามารถของช้างและกิจกรรมในปาง แต่ปางช้างชาวต่างชาติจะให้สูงถึง 40,000 – 50,000 บาทต่อเดือนเพื่อจูงใจเจ้าของช้าง
ลักษณะการเลี้ยงช้างหรือทำปางช้างมีหลายลักษณะเช่น ช้างโชว์ ช้างชักลากไม้ ช้างแห่งานเทศกาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ออกประกาศมาตรฐานปางช้างซึ่งมีข้อกำหนดมาตรฐานการเลี้ยงช้างตามวันถุประสงค์การเลี้ยง โดยพิจารณาถึงส่วนที่เกี่ยวข้องหมดประกอบด้วย ช้าง คนทำงานกับช้าง และผู้ใช้บริการ นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ด้วย
ทั้งนี้ช้างสมควรได้รับการเลี้ยงดูโดยไม่ถูกทารุณกรรมและมีสวัสดิภาพที่ดี แต่ต้องไม่โลกสวยจนเกินไปเนื่องจากช้างมีน้ำหนัก 4-5 ตัน การไม่ควบคุมช้างเลย อาจทำร้ายคนถึงแก่ชีวิตได้ในพริบตา แม้แต่ควาญเองก็ตายมาหลายคนแล้ว ส่วนตัวเองซึ่งเป็นหมอ เมื่อไปรักษาช้างที่ไม่ล่ามโซ่ หากควาญไม่อยู่ จะไม่เข้าไปหาช้างเด็ดขาด ตั้งแต่ทำงานมา ช่วยชีวิตช้างที่มีโอกาสตายสูงมากเป็นหลักหลายร้อยตัว คงไม่ต้องพูดว่า ตัวหมอรักและสงสารช้างแค่ไหน แต่รักต้องมีสติด้วยเพราะหมอยังเกือบตายหลายครั้ง
หมอหนึ่งกล่าวย้ำว่า ไม่ได้โจมตีปางช้างประเภทเลี้ยงปล่อยอิสระ หากมีจิตเมตตารับช้างผอม ช้างป่วย ช้างแก่ไปดูแลก็เป็นการดี แต่ต้องไม่โจมตีปางช้างหรือคนที่เลี้ยงช้างเพื่อวัตถุประสงค์อื่นว่า การให้ช้างทำงานเช่น แสดงโชว์หรือร่วมงานแห่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงช้างแต่ละเชือกนั้นสูงมาก แต่การให้ทำงานมีกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่า อะไรที่เรียกว่า ทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร ตลอดจนกำหนดชัดเกี่ยวกับการใช้งานช้างแต่ละวัตถุประสงค์เช่น กำหนดขนาดและน้ำหนักตัวช้าง น้ำหนักกูบหรือแหย่ง รวมถึงระยะเวลาทำงานในแต่ละวัน เป็นต้น . – 512 – สำนักข่าวไทย