พังงา 2 ม.ค.- กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผย “แม่ลำปี” เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ที่หาดท้ายเหมืองกลางดึกวันที่ 1 มกราคม เป็นเหมือนของขวัญปีใหม่ โดยเต่าชนิดนี้เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโลก เป็นสัตว์ป่าสงวน และอยู่ในสถานะวิกฤตใกล้สูญพันธุ์
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) รายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมืองร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ตสำรวจการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเล โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ พบแม่เต่ามะเฟืองกำลังวางไข่บริเวณชายหาดท้ายเหมืองในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกลางดึกของคืนวันที่ 1 มกราคม ย่างเข้าสู่วันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 01.29 น. โดยเป็นการขึ้นวางไข่เป็นรังที่ 5 ของอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง (รังที่ 6 ของฤดูกาล) ถือได้ว่า เป็นของขวัญปีใหม่
จากการวัดพบความกว้างกระดอง 105 เซนติดมเตร ความยาวกระดอง 180 เซนติเมตร พบตำหนิบริเวณปลายพายด้านซ้ายแหว่งเล็กน้อย โดยถ่ายภาพเพื่อใช้ยืนยันอัตลักษณ์พบว่า เป็น “แม่ลำปี”
หลังจากแม่เต่าเดินกลับลงทะเล เจ้าหน้าที่ได้ทำการขุดย้ายไข่เต่า เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการสูญหายและน้ำทะเลจะท่วมถึง ความลึกก้นหลุมไข่ 80 เซนติเมตร ความกว้างหลุมไข่ 27 เซนติเมตร พบไข่ทั้งหมด 120 ฟอง เป็นไข่สมบูณ์ 78 ฟอง ไข่ลม 42 ฟอง ไข่เต่ามีขนาด 5.42 เซนติเมตร
ต่อมาเจ้าหน้าที่ร่วมกันย้ายไข่เต่ามะเฟืองไปเพาะฟักในจุดที่สะดวกต่อการดูแลบริเวณหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่อยู่พ้นแนวน้ำขึ้นสูงสุดเพื่อให้ไข่เต่าได้มีโอกาสฟักตัวตามธรรมชาติ คาดว่า จะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2567
สำหรับ “ต่ามะเฟือง” ซึ่งเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโลกและเป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 18แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ทั้งยังมีสถานะค่อนข้างวิกฤตใกล้สูญพันธุ์
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้สำรวจและติดตามการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟืองอุทยานแห่งชาติ 2 แห่งที่มีประชากรเต่ามะเฟืองมากที่สุดคือ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงากับ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ก่อนหน้านี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการพัฒนาฟื้นที่ชายฝั่งและชายหาด ซึ่งเป็นการรบกวนแหล่งวางไข่ แหล่งหากิน และแหล่งอาศัยของเต่าทะเล นอกจากนี้ยังมีการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเลในฤดูวางไข่ทั้งเพื่อการบริโภคและการค้าขาย ตลอดจนมีอุปสรรคจากการทำประมงชายฝั่งที่ใช้เครื่องมือประมงหลายชนิด เช่น อวนรุน อวนลาก อวนลอย อวนติด เบ็ดราว ที่เต่ามะเฟืองมักจะถูกจับและติดเครื่องมือประมงตาย
ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนดมาตรการในการดูแลพื้นที่วางไข่เต่ามะเฟืองไว้อย่างเคร่งครัด จนทำให้แม่เต่ากลับมาวางไข่อีกครั้ง หลังจากไม่ขึ้นมาวางไข่หลายปี จนปัจจุบันแม่เต่ามาวางไข่บ่อยครั้งขึ้น เป็นสิ่งยืนยันว่า หาดท้ายเหมืองมีความเงียบสงบสวยงามมีสภาพตามธรรมชาติสูง ควรอนุรักษ์ไว้ตามที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลก.- 512 – สำนักข่าวไทย