กรุงเทพฯ 27 มี.ค.- ปลัดกระทรวงทส. เผย ประสานผู้ว่าราชการ 17 จังหวัดภาคเหนือลดจุดความร้อน ควบคุมไฟ และลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในอ.แม่สาย ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานถึง 10 เท่า
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันอย่างใกล้ชิดและยกระดับการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 17 จังหวัดภาคเหนือซึ่งคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายพื้นที่ต่อเนื่องหลายวัน
สำหรับรายงานการตรวจสอบคุณภาพอากาศของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศประจำวันที่ 27 มีนาคม 2566 ณ 07:00 น. พบปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานใน 24 จังหวัดได้แก่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.อุทัยธานี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.ชัยภูมิ และจ. อุบลราชธานี
ส่วนผลการตรวจวัดตามรายภาคมีดังนี้
– ภาคเหนือเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37 – 537 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกินค่ามาตรฐาน 8 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 31 – 218 มคก./ลบ.ม.
– ภาคกลางและตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 16 – 37 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 9 – 20 มคก./ลบ.ม.
– ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 12 – 23 มคก./ลบ.ม.
– กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 13 – 39 มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่อ. แม่สาย จ. เชียงรายซึ่งวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้สูงสุดถึง 537 มคก./ลบ.ม. เกิดจากไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร การเผาในที่โล่งอื่นๆ และหมอกควันข้ามแดน ประกอบกับสภาพทางอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการระบายของฝุ่นละออง โดยสภาพอากาศนิ่งและเพดานการลอยตัวต่ำ ส่งผลให้เกิดการสะสมของ PM2.5
ปลัดกระทรวงทส. กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงทส. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและยกระดับการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 และนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ภาคเหนือ ปี 2566 ของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังบูรณาการการทำงานในทุกระดับ ดังนี้
- การดำเนินงานในระดับชาติ กระทรวงทส. ได้เสนอยกระดับการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 8 มาตรการ และแผนการดำเนินงาน/มาตรการระยะยาวสำหรับ ปี 2567 – 2570 จำนวน 11 มาตรการ
2. การดำเนินงานในระดับภาค กระทรวงทส. ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ศอ.ปกป. ภาค) โดยมี แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และได้มีการประสานดำเนินงานป้องกันและควบคุมไฟร่วมกันอย่างใกล้ชิด
3. การดำเนินงานในระดับภาค กระทรวงทส. ได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) ซึ่งประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ประสานการประสานดำเนินงานป้องกัน ควบคุมไฟ และลดแหล่งกำเนิน PM2.5 อย่างเข้มข้น
4. การดำเนินงานในระดับจังหวัด ทุกหน่วยงาน ยังคงดำเนินการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ในการติดตามสถานการณ์ คาดการณ์ ลดจุดความร้อน ควบคุมไฟ และลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งคณะกรรมการและคณะทำงานในจังหวัดอย่างใกล้ชิด
5. ในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ประเทศไทยได้อาศัยการเจรจาในเวทีอาเซียนภายใต้ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรายงานสภาพปัญหา ตามข้อกำหนดของข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และได้รายงานสถานการณ์ปัญหาต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกเข้มงวดลดจุดความร้อน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการควบคุมไฟป่าและการเผาในที่โล่ง สำนักเลขาธิการอาเซียน จึงได้ยกระดับการแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันข้ามแดนในอาเซียน เป็นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เมื่อวันที 2 มีนาคม 2566
อย่างไรก็ตามในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างยั่งยืน จากทุกภาคส่วน แม้ว่าภาครัฐได้เฝ้าระวังสถานการณ์และยกระดับการดำเนินงานโดยตลอด แต่สถานการณ์ก็ยังมีความรุนแรง เนื่องจากยังมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบจุดไฟเผาป่า จึงขอความร่วมมือจากประชาชน ให้ร่วมเฝ้าระวังสถานการณ์ หากพบเห็นไฟในพื้นที่ใด ขอความร่วมมือแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 และสายด่วนนิรภัย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จากการคาดการณ์ของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ยังคงมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 28 มีนาคม- 3 เมษายน แต่ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน สถานการณ์อาจบรรเทาลงได้บ้างเนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น แระกอบกับสภาพอากาศที่ปิดลดลง
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลระหว่างวันที่ 27 มีนาคม- 2 เมษายน มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ แต่ในวันที่ 3 เมษายน 2566 พื้นที่ กรุงเทพมหานครอาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่จากบริเวณทิศตะวันตกได้
สำหรับดัชนีคุณภาพอากาศที่อ. แม่สาย จ. เชียงรายซึ่งตรวจวัดฝุ่น PM2.5 มากถึง 537 มคก./ลบ.ม. เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานประเทศไทยที่ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. พบว่า สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 10.74 เท่า ส่วนรายงานผลการตรวจวัดโดย IQAir เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้พบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศอ. แม่สายอยุ่ที่ 427 สหรัฐ AQI โดยความเข้มข้นของ PM2.5 เป็น 78.1 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขอให้ปฏิบัติตน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยประชาชนทั่วไปควรลดหรืองดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคารทุกครั้ง สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน นอกจากนี้ ประชาชนควรเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ “4HealthPM2.5” หรือ “คลินิกมลพิษออนไลน์” และหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีด ให้รีบพบแพทย์ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” และขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศจากแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ Air4Thai และเฟสบุ๊คแฟนเพจ “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) โดยท่านสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com