อสมท 4 พ.ย.-อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ขบวนการทุจริตสอบนายสิบตำรวจ เมื่อปี 2560 โดยพบความผิดตั้งแต่หัวโจกของขบวนการ ไปจนถึงนักเรียนที่ทุจริตสอบ ขบวนการนี้ไม่หมดไปจากสังคมไทย เราจะไปย้อนรอยการทุจริตสอบครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการตำรวจไทย
อัยการคดีอาญานัดผู้ต้องหาคดีทุจริตโกงสอบเข้าเป็นนายสิบ ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อปี 2560 จำนวน 113 คน ยื่นส่งฟ้องต่อศาลอาญาแล้ว โดยคดีนี้เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดสอบบุคคลทั่วไปเพื่อรับสมัครบุคคลภายนอกอายุตั้งแต่ 18 – 27 ปี มีวุฒิการศึกษาจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับ ปวช. หรือเทียบเท่า เพื่อสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ ผู้ต้องหากลุ่มนี้มีการทำเป็นขบวนการ มีการและเรียกรับผลประโยชน์จากผู้สมัครสอบ แบ่งเป็นกลุ่มผู้รับจ้างทำข้อสอบ หรือมือปืน และกลุ่มผู้ลอกข้อสอบ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการทุจริตในแวดวงตำรวจ ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2555 แวดวงสีกากี ก็มีเรื่องด่างพร้อยเกิดขึ้น เมื่อมีการตรวจพบการทุจริตสอบนายสิบตำรวจ ปีนั้นมีผู้สมัครสอบกว่า 300,000 คน บรรจุเป็นตำรวจเพียง 10,000 คนเท่านั้น ทำให้การแข่งขันนอกจากต้องใช้ความสามารถแล้ว บางคนกลับใช้ทางลัด งัดเล่ห์อุบายออกมาใช้ เพื่อให้ได้เข้าสู่วงการตำรวจ
ในปีนั้นพบการทุจริต 2 สนามสอบใหญ่ๆ คือ ที่ชลบุรี และ นครราชสีมา มีนักเรียนซุกซ่อนเครื่องรับสัญญาณระบบสั่นขนาดเล็ก ไว้ในอวัยวะเพศ และทวารหนัก เข้าไปในสนามสอบ ใช้สัญญาณมือถือแปลงเป็นสัญาณวิทยุ มีคนนำเสาสัญาณพกติดตัว ไปยืนบริเวณสนามสอบไม่เกิน 300 เมตร เพื่อส่งคำตอบด้วยระบบสั่น เข้าไปในเครื่องมือที่ซุกซ่อนไว้
อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2 ยอมรับว่า นี่คือการโกงข้อสอบครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ การสอบของวงการตำรวจ ขบวนการโกงข้อสอบ ใน 1 ทีม จะประกอบไปด้วย 6 คน ต่อการทำงาน 1 สนามสอบ มีทั้งทีมจัดหาลูกค้า ทีมด้านไอที รับผิดชอบเรื่องการส่งสัญญาณเข้าเครื่องมือ และทีมทำข้อสอบ ทำหน้าที่เข้าไปสอบ และหาวิธีเอาคำตอบออกมา
หลังจากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยายามหาวิธีป้องกัน ทั้งตัดสัญญาณโทรศัพท์ในสนามสอบ ให้สวมชุดวอร์มเหมือนกันเข้าสอบ ป้องกันการซุกซ่อนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ท้ายที่สุด ขบวนการทุจริตการสอบก็มักหากลวิธีโกงข้อสอบทุกปี
คดีนี้พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนให้อัยการเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังอัยการตรวจสำนวน วันนี้ผู้ต้องหาที่ส่งฟ้อง มีทั้งนักเรียนที่โกงสอบ นักเรียนที่รับหน้าที่ทำข้อสอบ และหัวโจกของขบวนการโกงข้อสอบ จำนวน 113 คน ในจำนวนนี้มี 57 คนถูกแจ้งทั้ง 3 ข้อหา คืออั้งยี่ที่มีการรวมตัวกันกระทำผิดทางอาญา แจ้งความเท็จ และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่วนอีก 56 คน สั่งฟ้องเฉพาะข้อหาอั้งยี่ที่มีการรวมตัวกันกระทำผิดทางอาญา
หลังขบวนการนี้ถูกเปิดดปง ตำรวจลองนำคำตอบที่แก๊งโกงข้อสอบ ส่งคำตอบให้นักเรียนมาเทียบกับข้อสอบจริง พบว่า 120 ข้อ ถูกเพียง 30-40 ข้อเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับคำสารภาพ ของ 1 ในผู้ต้องหาที่บอกว่า ต้องจ่ายเงินถึง 500,000 บาท ให้กับผู้ว่าจ้างเหล่านี้ จึงเป็นคำตอบได้ว่า นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ เพราะขบวนการเหล่านี้ มักไม่การันตี และไม่คืนเงิน หากสอบไม่ติด.-สำนักข่าวไทย