กรุงเทพฯ 21 ต.ค.- ศาลอาญายกคำร้องดีอีเอสสั่งปิดสื่อ และยกเลิกคำสั่งเดิมที่เคยระงับการเผยแพร่ ให้เหตุผลว่าสื่อควรมีเสรีภาพในช่วงสถานการณ์ประกาศ พ.ร.กฉุกเฉิน ชี้รัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอสข้ามขั้นตอน
ศาลอ่านคำสั่งภายหลังการไต่สวนกรณีศาลมีคำสั่งปิดเว็บไซต์ Voice TV เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพร้อมตำรวจ ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบและระงับ 4 สำนักข่าวออนไลน์ กับเพจเยาวชนปลดแอกของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร มาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน การตีความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มาตรา 20 ก็ดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 มาตรา 9 (3) ก็ดี จึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ทั้งนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ ระบุว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หมายถึงข้อมูล ข้อความ ในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาล ห้ามโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิดตามมาตรา 20 (1)-(3) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นรายข้อความ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (3) ห้ามการเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัวนั้น กฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าวหรือข้อความเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอปรากฏต่อศาลในปัจจุบันแล้วว่าขัดต่อกฎหมาย กฎหมายหาได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชนทั้งช่องทาง ซึ่งมีผลการนำเสนอข้อความในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย ส่วนความขัดข้องในเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงทางเทคนิคนั้นเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงหลักกฎหมาย
ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ทั้ง 12 รายการ ซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี, สำนักพิมพ์ประชาไท, The Reporters, The STANDARD หรือของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล คำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ ยกคำร้อง
ด้าน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ เปิดเผยหลังจากศาลมีคำสั่งยกคำร้องของดีอีเอส และ ยกเลิกคำสั่งที่เคยสั่งระงับช่องทางการเผยแพร่ ซึ่งจะทำได้ต้องมีการเฉพาะเจาะจงไม่ใช่เป็นการปิดทั้ง URL เนื่องจากเกินกว่าที่กฎหมายคุ้มครอง โดยช่องทางใดนำเสนออะไรก็ผิดแค่ส่วนนั้นไม่ได้ผิดทั้งสื่อ ซึ่งศาลยืนหยัดถึงเสรีภาพสื่อ และ เสรีภาพสื่อมวลชน ทั้งนี้นายวิญญัติยังบอกด้วยว่าในการไต่สวนได้มีการยกเรื่องการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ขึ้นมาก่อนซึ่งกระทรวงดีอีเอสอยู่ระหว่างกำลังตั้งคณะกรรมการและเห็นว่าเป็นการข้ามขั้นตอนฉะนั้นการมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ของสื่อในช่วง พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นการขู่สื่อ และ ขู่ประชาชน ซึ่งรัฐควรดำเนินการตามความเหมาะสม .-สำนักข่าวไทย