กรุงเทพฯ 29 ก.ค.- ผอ.ศูนย์อาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมไทยลดลง หลังอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง”บอส อยู่วิทยา พร้อมตั้งคำถาม“ ไม่เกรงใจชาวบ้านบ้างเลยหรือ”
จากกรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง ในคดีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต หลังผ่านกระบวนการสอบสวนมาถึง 8 ปี จนเกิดข้อสงสัยในสาธารณชนเป็นวงกว้าง
ศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์อาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงหลักการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการว่า ต้องอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานเป็นสำคัญ โดยเหตุผลที่จะไม่สั่งฟ้องคดีนั้นปกติ มี 3 กรณี คือ 1.พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนัก
เพียงพอที่จะเอาความผิด 2.พยานหลักฐานได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 3.เป็นกรณีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่จะดำเนินคดีผู้ต้องหา
ซึ่งคดีที่กำลังอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ เหลือเพียงเหตุผลด้าน น้ำหนักพยานหลักฐานเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าพนักงานอัยการจะมีอิสระในการสั่งคดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ดุลพินิจไปในทางใดก็ได้ หากพบพยานหลักฐานปรากฏในสำนวนจำนวนมากก็ควรมีความเห็นสั่งฟ้องคดี
โดยหลักในการใช้ดุลพินิจต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ซึ่งปัจจุบันควรยึดถือพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ถึงร้อยละ 90 สำหรับคดีนี้พยานบุคคลที่มาให้การ หลังผ่านมา 6 ปี ว่าขับรถตามหลังนายวรยุทธ ในความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามความเห็นแล้วถือเป็นความคิดเห็นที่พิสูจน์ชัดแจ้งไม่ได้
ศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ให้ความเห็นว่า การใช้ดุลพินิจสั่งคดีในลักษณะนี้ ทำให้ความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมไทย ลดลง และดูดาย มีแต่คนจนเท่านั้นที่ติดคุก เพราะหากเทียบกับคดีอื่น เช่น คดีแม่ขโมยซาลาเปาไปให้ลูก ต้องให้ผู้มีอำนาจเบื้องบน เช่น อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งไม่ฟ้องคดี ด้วยเหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในทางกลับกันคดีดังกล่าวกลับกระตือรือร้นเกินไปที่จะสั่งไม่ฟ้อง จึงอยากตั้งคำถามกับเหตุที่เกิดขึ้นว่า “ ไม่เกรงใจชาวบ้านบ้างเลยหรือ”
ส่วนจะนำคดีกลับมาพิจารณาคำสั่งอีกครั้งได้หรือไม่ เชื่อว่าหากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจองอัยการพบความบิดพริ้ว ในการพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง สามารถเปิดการสอบสวนใหม่ได้โดยอาศัยเหตุยกเว้นในมาตรา 147 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ เช่น อาจให้ตรวจวัดหาความเร็วอีกครั้งเพื่อเป็นพยานหลักฐานใหม่ในคดี
นอกจากนี้หากพิสูจน์ได้ว่ามีการทำพยานหลักฐานโดยมิชอบ อาจสามารถดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องได้อีกด้วย .-สำนักข่าวไทย