กรุงเทพฯ 28 มี.ค.- ศาลสั่งคุก “เรืองไกร” 8 เดือน แจ้งเท็จกล่าวหา “วัชระ” แทรกแซงดีเอสไอเรียก “ธาริต” ให้การชายชุดดำ
ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ฟ้องนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จำเลยที่ 1 และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำเลยที่ 2 ในข้อหาแจ้งความเท็จ ให้พนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และหมิ่นประมาท
สืบเนื่องจากนายเรืองไกร อดีตสมาชิกวุฒิสภา และเป็นทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่านายวัชระ เพชรทอง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน คนที่ 1 ในขณะนั้น ร่วมกับนายศุภชัย ศรีหล้า ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จงใจใช้สถานะ หรือตำแหน่ง ส.ส. เข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงการทำงานของนายธาริต โดยเรียกนายธาริตมาให้การเรื่องชายชุดดำในเหตุการณ์ความไม่สงบเดือน เม.ย.- พ.ค.2553 ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีอำนาจและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคประชาธิปัตย์ และไม่ได้มีมติของ กมธ. เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 266 (1) โดยนายเรืองไกร และนายธาริตขณะเป็นอธิบดีดีเอสไอ ได้ไปให้การยืนยันข้อความอันเท็จต่อเจ้าพนักงาน กกต. ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา
โดยวันนี้ ทนายความโจทก์, นายเรืองไกร จำเลยที่ 1 และ นายธาริต จำเลยที่ 2 มาศาล พร้อมทนายความ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์และนายศุภชัยได้เบิกความว่าได้ทำหนังสือเชิญถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบแก้ให้เห็นว่าโจทก์จงใจก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 อย่างไร พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อ กกต.ยืนยันข้อเท็จจริงประสงค์ให้ กกต.พิจารณาว่าโจทก์จงใจก้าวก่าย เกินเลยมากกว่าการแสดงความคิดเห็นท้วงติงและการคาดคะเนส่วนตัว จำเลยที่ 1 เคยเป็น ส.ว.มาก่อนย่อมทราบกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ การใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ต้องไม่เกินเลยขอบเขตกฎหมาย จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ เป็นการให้ข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ จึงผิดตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ศาลเห็นว่าโจทก์ต้องนำสืบจนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 แบ่งหน้าที่ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างไร ลำพังจำเลยที่ 2 ไปให้ถ้อยคำต่อ กกต. ยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิด เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นอธิบดีดีเอสไอและหัวหน้าพนักงานสอบสวน ย่อมมีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการไม่เปิดเผยสำนวนเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในการสอบสวน ขณะที่โจทก์เป็นรองประธาน กมธ. พยายามเชิญจำเลยที่ 2 มาชี้แจงหลายครั้ง จำเลยที่ 2 เชื่อและเข้าใจว่ามี กมธ.บางคนเป็น ส.ส.ของพรรคการเมืองที่หัวหน้าพรรคเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (สลายการชุมนุมในเหตุการณ์ความไม่สงบปี 2553) ทำให้จำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำเป็นพยานว่าโจทก์ก้าวก่ายแทรกแซงเรื่องชายชุดดำ เอื้อประโยชน์พรรคประชาธิปัตย์และผู้ต้องหา สิ่งที่ กมธ.ปฏิบัติทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำหน้าที่โดยสุจริตแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่มีความผิด
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ จำคุก 1 ปี ทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
ต่อมานายเรืองไกร จำเลยที่ 1 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 แสนบาท ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์.-สำนักข่าวไทย