บก.สปพ. 5 ส.ค. – “บิ๊กต่าย” เผยเหตุสูญเสีย 2 ตำรวจ จากการเข้าระงับเหตุ จำเป็นต้องฝึกทบทวนยุทธวิธีตำรวจ ให้มีทักษะความชำนาญ พร้อมรับชมสาธิตยุทธวิธีตำรวจในการเข้าระงับเหตุจับกุมคนร้าย
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการฝึกอบรมการประเมินสถานการณ์ในระดับผู้บริหารขั้นต้นหน้างานป้องกันปราบปรามของ บช.น.” โดยมี พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รอง ผบช.น., พล.ต.ต.วรวิทย์ ญาณจินดา ผบก.สปพ. รวมทั้งผู้แทนระดับ รอง ผบก. บก.น.1-9 รอง ผกก.ป. ทั้ง 88 สน. และผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 1 จำนวน 49 นาย ทั้งนี้มีการสาธิตยุทธวิธีตำรวจในการเข้าระงับเหตุจับกุมคนร้าย
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การสูญเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ สภ.นาหวาย และเกิดเหตุสูญเสีย “รองหรั่ง” ในพื้นที่ สน.ท่าข้าม จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหากขาดการประเมิน ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือทางรองผู้กำกับและสารวัตรเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ระดับต่ำกว่านั้นได้มีการฝึกทบทวนยุทธวิธีตำรวจไปแล้ว ทั้งนี้ ทางรองผู้กำกับและสารวัตรจะต้องประเมินนำพาชุดปฏิบัติให้ปลอดภัยไม่ได้รับการอันตรายใด ๆ และสำเร็จในภารกิจนั้นตามหลักยุทธวิธีตำรวจและกฎหมายที่บัญญัติไว้
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณ ผบช.น. รวมไปถึงผู้บังคับการทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาสำหรับรองผู้กำกับและสารวัตรภายใต้การกำกับการของ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ซึ่งตนก็ได้พูดคุยกับ พล.ต.ท.สำราญ ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนงบประมาณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่คุ้มค่า เพื่อให้ผู้บริหารชั้นต้นในหน้างานป้องกันปราบปรามเกิดทักษะความชำนาญและมีการตัดสินใจที่ส่งประสิทธิภาพที่สุด หวังว่าช่วงเวลาในการอบรมทบทวนโครงการนี้จะต้องเกิดความสำเร็จ แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการที่ทางผู้ฝึกตั้งใจ ยืนยันว่าไม่ต้องการให้ผู้ฝึกมาเพื่อพักผ่อน แต่ให้มาเพื่อฝึกทบทวนถึงองค์ความรู้ทั้งทางด้านภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า โครงการนี้ตนได้กำชับให้ทาง พล.ต.ท.สำราญ ให้คอยกำกับดูแล โดยที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการทบทวนอยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับข้าราชการตำรวจที่ได้รับอันตรายถึงชีวิต จึงคิดว่าควรมีการฝึกทบทวนยุทธวิธีให้ผู้บริหารชั้นต้นได้ทราบรายละเอียดและการประเมินการปฎิบัติสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะวางแผนเข้าปฎิบัติการในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญในการตัดสินใจ และร่วมปฏิบัติกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้ทำการฝึกไปแล้วนั้น ซึ่งตอนนี้ได้ให้ทางสำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำรวจในเรื่องเสื้อเกราะ อาวุธประจำกาย ประจำหน่วย และประจำชุด ซึ่งทางสำนักงานกำลังพลได้นำข้อมูลจัดเตรียมไว้แล้ว และจะเข้าสู่กระบวนการในการจัดทำคำของบประมาณในปี 68
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า สำหรับปืนเทเซอร์ประจำกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการนั้น มีข้อจำกัดในการจัดทำอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของงบประมาณ โดยจะต้องบริหารงบประมาณที่มีอยู่กับโครงการที่จัดทำให้สอดคล้องกัน ดังนั้นแนวคิดนี้กำลังให้ทางสำนักงานกำลังพลฯ พิจารณาโดยมีแนวคิดปีต่อปี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความพร้อมในการปฎิบัติหน้าที่และความมั่นใจในการเข้าระงับเหตุ
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า สำหรับการเข้าระงับเหตุที่มีความล่าช้านั้น การเข้าปฎิบัติจำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์ หากตัดสินใจผิดพลาดแม้แต่เพียงเล็กน้อย อาจจะทำลายสถานการณ์ต่างๆ และประกอบกับกฎหมายที่บัญญัติไว้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงทำให้การปฏิบัติการต้องอาศัยเวลาที่ยืดออกไป เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ลดความเสี่ยงและอันตรายลดลง และในสถานการณ์บางอย่างประชาชนอาจจะมองว่าทางตำรวจปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน สิ่งเหล่านี้ตนต้องขออภัย แต่สิ่งนี้คือยุทธวิธีในการประเมินของการปฎิบัติสำหรับเหตุการณ์ก่อเหตุของผู้ก่อเหตุ ที่ต้องคำนึงถึงอาวุธ พฤติกรรม และสภาพแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย
ทั้งนี้ผู้บัญชาการในตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ นับว่าเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ดังนั้นการฝึกอบรมทบทวนในโครงการนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะทำให้ผู้บัญชาเหตุการณ์ในเวลานั้นตัดสินใจวางแผนและทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด โดยสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่ควรนำมาพิจารณาและฝึกอบรมทบทวนฯ ให้เกิดการลดระยะเวลาและใช้กำลัง รวมไปถึงเกิดความรวดเร็วในการตัดสินใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติการครั้งต่อๆ ไป
ด้าน พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวว่า เนื่องด้วยปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความสลับซับซ้อนตามสภาพเศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป การก่อเหตุของคนร้าย มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ยากต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสายป้องกันปราบปราม ซึ่งรอง ผกก.ป. และ สวป. แต่ละ สน. ถือเป็นผู้บริหารเหตุการณ์ขั้นต้นในกรณีหากเกิดเหตุการณ์ที่มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการระงับเหตุ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และได้รับการพัฒนาฝึกทบทวนยุทธวิธีอย่างสม่ำเสมอ บช.น. จึงได้จัดให้มีโครงการฝึกอบรมการประเมินสถานการณ์ฯของ บช.น. ขึ้น โดยให้ บก.น. 1-9 พิจารณาคัดเลือกระดับ รอง ผกก.ป. และ สวป. ในสังกัดจำนวน 88 สถานี รวมทั้งสิ้น 245 นาย แบ่งการฝึกทบทวนออกเป็น 5 รุ่น เพื่อให้ผู้สำเร็จการฝึกทบทวน สามารถกลับไปถ่ายทอดยุทธวิธีตำรวจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาประจำสถานีตำรวจได้อีกด้วย โดยกำหนดการฝึกทบทวนตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. จนถึง 4 ก.ย. 67 รวม 15 วัน ซึ่งมีคณะวิทยากรและเจ้าหน้าที่จาก กก.สายตรวจ บก.สายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เป็นเจ้าภาพ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย บช.น. เน้นย้ำให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ยึดหลักกฎหมาย และเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามนโยบาย ลดอาชญากรรม สร้างความปลอดภัย ใส่ใจบริการ.-419-สำนักข่าวไทย