ก.ยุติธรรม 4 ต.ค. – โฆษกศาลยุติธรรม แจงขั้นตอนการดำเนินคดีเยาวชนทำผิด ตร.ต้องคุมส่งศาลภายใน 24 ชม. เพื่อตรวจสอบการจับเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนพ่อแม่อาจต้องรับผิดทางแพ่งด้วย
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีกับเยาวชนชายอายุ 14 ปี ที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงประชาชนในห้างดัง มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเยาวชนแล้ว จะต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนส่งศาลเยาวชนฯ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบว่าเป็นการจับกุมเด็ก หรือเยาวชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเยาวชน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งเรียกว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบการจับ และศาลใช้ดุลยพินิจว่าจะควบคุมตัว หรือส่งไปสถานที่ใด หรือจะให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไร โดยจะพิจารณาพฤติกรรมของเยาวชนจากรายงานการจับกุมของพนักงานสอบที่นำส่งมาให้ศาลพิจารณา เช่น ศาลจะดูว่าเด็กก่อเหตุยิงไปกี่คน สภาพทางจิตใจ การรักษาพยาบาลทางจิต การดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างไร ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องใส่ไว้ในรายงานให้ศาลพิจารณา
“การตรวจสอบการจับพนักงานสอบสวนจะต้องเดินทางมาศาลเยาวชนฯ ด้วย และศาลอาจจะไต่สวนพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมถึงข้อมูลต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนใส่มาในรายงานการจับกุม จากนั้นศาลจะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนว่าจะใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัว หรือจะควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน ที่ก่อเหตุหรือไม่”
ส่วนกรณีของเด็กที่มีเรื่องของอาการป่วยทางจิตนั้น หากศาลเห็นว่าถ้าพ่อแม่เด็กดูแลเด็กได้ก็จะให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองดูแล และอาจวางมาตรการต่าง ๆ กำหนดไว้ แต่หากพ่อแม่เด็กดูแลไม่ได้ ก็อาจจะให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็ก ดูแลแทน หรือสถานที่อื่นที่ศาลเห็นสมควร เช่น สถานดูแลทางจิตเวช แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของเด็กว่า รุนแรงขนาดไหน และต้องใช้มาตรการอะไรที่จะมาควบคุมดูแลเด็กเหล่านี้
สำหรับด้านคดีความ ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าเด็กอายุกว่า 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ได้รับการยกเว้นโทษ ไม่นำโทษจำคุกมาใช้กับเด็กและเยาวชน แต่ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการ หรือวางข้อกำหนดให้พ่อแม่ควบคุมดูแลเด็ก ไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด หรืออาจส่งตัวไปสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตหรือสถานที่ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามพฤติการณ์ของเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 คดี มีเด็กทำผิดกฎหมาย 10 คน ศาลอาจจะใช้มาตรการที่ต่างกันไปของทั้ง 10 คน
ในส่วนของพ่อแม่เด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ต้องรับผิดทางอาญา แต่อาจจะต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้น แต่พ่อแม่จะพิสูจน์ได้ว่าใช้ความระมัดระวังในการดูแลแล้ว. -สำนักข่าวไทย