กทม. 15 พ.ย.- รอง โฆษก ตร. เตือนสลิปปลอมระบาด แนะตรวจสอบยอดเงินทันทีจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
วันนี้ (15 พ.ย. 65) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.ท.ธเทพ ไชยชาญบุตร รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกรณีชายหญิงตระเวนใช้สลิปปลอมหลอกซื้อของไปทั่วตลาดที่ จ.อ่างทอง พ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดต่างหวาดผวากันอย่างหนัก หลังมีหญิงอายุราว 30 ปี กับชายวัยกลางคน ตระเวนซื้อของทั้งเสื้อผ้า ของใช้ภายในตลาดนัดในพื้นที่ จ.อ่างทอง โดยใช้วิธีชำระเงินโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร และแสดงสลิปการโอนเงินให้ตรวจสอบให้กับแม่ค้าดู แต่ปรากฏว่าหลังตรวจสอบยอดเงินไม่มีเงินเข้ามา ทั้งที่ตอนที่แสดงให้ดูก็มีการโอนเงินสำเร็จแล้ว ในกรณีดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากเตือนพ่อค้าแม่ค้าระมัดระวัง หากมีการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันก็ให้ตรวจสอบยอดเงินทันทีจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้
สำหรับวิธีการตรวจสอบสลิปปลอมมีดังนี้
- สังเกตความละเอียดของ ตัวเลข หรือ ตัวหนังสือ หากเป็นสลิปปลอม แบบของตัวหนังสือบนสลิป ในส่วนของ ชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันที่ เวลา อาจจะเป็นตัวหนังสือคนละแบบ หรือความหนา บางของตัวอักษรจะไม่เท่ากัน หากเป็นเช่นนี้ อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นสลิปปลอม
- สแกน QR Code บนสลิปโอนเงินแบบ E-Slip สามารถตรวจสอบ ชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันและเวลาที่โอนเงินได้ หากยอดเงินไม่ตรง หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นสลิปปลอม
- ใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคาร ซึ่งจะแจ้งเตือนเมื่อมียอดเงินเข้าบัญชี สามารถนำไปเทียบยอดเงินกับสลิปได้
- ใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีฟังก์ชันตรวจสอบสลิปการโอนเงินอัตโนมัติกรณีที่ร้านค้าออนไลน์มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก และมีการโอนเงินเข้าหลายรายการ สามารถเลือกใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีระบบตรวจสอบสลิป และยอดเงินเข้าอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ร้านค้าประหยัดเวลา และลดขั้นตอนการตรวจสอบ สลิปปลอม
และอีกวิธีการหนึ่งที่มิจฉาชีพมักใช้คือ การตั้งโอนล่วงหน้า ซึ่งจะสามารถกดยกเลิกได้ตลอดเวลา หลังจากโชว์สลิป ให้กับพ่อค้าแม่ค้าดูแล้ว แนะสังเกตด้านบนสลิป หากเป็นข้อความว่า ตั้งโอนล่วงหน้าสำเร็จ แสดงว่าเงินยังไม่เข้า เพราะถ้าโอนเงินสำเร็จ จะต้องเป็นข้อความว่า ชำระเงินสำเร็จ, ชำระบิลสำเร็จ หรือโอนเงินสำเร็จ หากไม่สังเกตุสลิปดีๆอาจตกหลุมพรางของคนร้ายได้
สำหรับผู้ที่กระทำ หรือ ใช้สลิป ปลอม ถือว่ามีความผิดมีความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และการปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รอง โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้สลิปโอนเงินปลอมนำมาหลอกลวงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า จึงสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามและหาทางป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันศูนย์ PCT มีการเตือนภัยพี่น้องประชาชน รูปแบบกลโกงของคนร้ายรวมทั้งสิ้น 18 วิธี หากสงสัยเกรงจะตกเป็นเหยื่อสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th .-สำนักข่าวไทย