25 ต.ค. – เหตุทะเลาะวิวาทบนถนน เป็นข่าวเยอะแยะมากมาย สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ทะเลาะกันปรับแค่ 500 บาทแล้วจบ ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ตอนนี้มีโทษหนักกว่าเดิมแล้ว
ทุกวันนี้ เหตุการณ์หนึ่งที่เราพบเห็นบนโลกโซเชียลกันอยู่บ่อยๆ คือเหตุการณ์ที่คนลงมาทะเลาะวิวาทกันบนถนน เป็นข่าวก็หลายคลิป ไม่เป็นข่าวก็เยอะ สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าแค่ทะเลาะกัน เรื่องจะจบที่ปรับแค่ 500 บาท ความจริงคือไม่เป็นเช่นนั้น ตอนนี้มีโทษที่หนักกว่าเดิมแล้ว และยังมีความผิดอื่นๆ ที่ข้อกฎหมายกำหนดโทษไว้อยู่ด้วย
ความผิดของการทำร้ายร่างกายแบ่งออกได้หลายระดับ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 372 ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน ได้มีแก้ไขใหม่ เพิ่มโทษเป็นปรับไม่เกิน 5,000 บาท (จากเดิมโทษปรับอยู่ที่ไม่เกิน 500 บาท)
หรือหาก 1 อีกฝั่งหนึ่งไม่สู้ เป็นการทำร้ายกันฝั่งเดียว ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ต่อยตบตี ไม่มีอาวุธ ให้เกิดความฟกช้ำ ดำเขียว เป็นรอยข่วน จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ของเดิมปรับ 1,000 บาท หรือจำคุก 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ)
แต่ถ้ามีถึงขั้นเลือดตกยางออก บาดเจ็บสาหัส มีบาดแผล มีเลือด แต่ไม่ตาย มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้าหนักกว่านั้นอีก เช่น ทำให้สูญเสียอวัยวะเสียโฉม ทำร้ายกันจนเจ็บป่วยเรื้อรังตลลอดชีวิต หรือต้องนอนโรงพยาบาลเกิน 20 วัน จะเข้าความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 โดยจะมีโทษสูงกว่าบาดเจ็บธรรมดา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท
การบาดเจ็บสาหัส จะมีลักษณะดังนี้ ตาบอด หูหนวก เสียฆานประสาท จิตพิการติดตัว เสียความสามารถสืบพันธ์ เสียอวัยวะ เสียโฉม แท้งบุตรในครรถ์ ทุพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือนอนโรงพยาบาลเกิน 20 วัน
มีงานวิจัยด้านวิชาการ ได้บอกไว้ว่า เรื่องของการทำร้ายร่างกายกันบนท้องถนน เกิดขึ้นในเมืองมากกว่าในต่างจังหวัด และอาจเป็นไปได้ว่าเพราะในเมืองมีสภาพการจราจรติดขัดมากกว่า มีความเครียดความแข่งขันกันสูงกว่า ส่งผลต่อารมณ์คนใช้รถใช้ถนนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ก็ได้ออกมาแนะนำวิธีการใช้รถใช้ถนนไม่ให้เกิดเหตุที่จะนำไปสู่การทะเลาะวิวาท ดังนี้
1. เผื่อเวลาก่อนออกเดินทาง เพราะเส้นทางอาจมีการจราจรติดขัดหรือมีอุบัติเหตุ การเผื่อเวลาจะทำให้เราไม่ร้อนรนในการขับขี่
2. ตั้งสติก่อนสตาร์ท ให้มีสติรู้ตัวเสมอว่าตนเองกำลังจะไปไหน มีใครรออยู่ และเตรียมสภาพกายและจิตใจให้พร้อมก่อนการขับขี่ยานพาหนะ โดยดูว่ามีความพร้อมหรือไม่
3. สร้างบรรยากาศ โดยการเปิดเพลงที่ชอบและร้องตาม หรือพูดคุยเรื่องดีๆ กับคนที่โดยสารมาด้วย
4. อย่าคาดหวัง เพราะเราอาจต้องพบเจอผู้คนที่มีมารยาทบนท้องถนนแตกต่างกัน จึงไม่ควรคาดหวังว่า เราจะปรับพฤติกรรมของคนอื่นได้ ควรมองการขับขี่ถูกต้องและปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก
5. เป็นคนใจดีบนท้องถนน โดยขับขี่เคารพกฎจราจร แบ่งปันน้ำใจต่อผู้ร่วมเส้นทาง ให้อภัย ไม่เก็บเอาความรุนแรงจากคนอื่นมาใส่ใจ ไม่มองถนนเป็นสนามแข่งที่ต้องมาเอาชนะกัน เน้นการเดินทางถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัยพร้อมรอยยิ้ม .- สำนักข่าวไทย
ขอบคุณคลิปจาก youtube : ไร้สมอง, WARP CHANEL






