กรุงเทพฯ 11 ก.ค. – “ศักดิ์สยาม” ไฟเขียว “กรมทางหลวง-ทางหลวงชนบท-การทางพิเศษฯ” บูรณาการร่วมกัน โอนโครงการก่อสร้างให้ กทพ.สร้างแทนได้ นำร่อง 5 โครงการเมกะโปรเจกต์ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท จาก 18 โครงการ เริ่มปี 65-70 เลือกรูปแบบลงทุนทั้ง “ตั้งกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ หรือ PPP”
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกัน ระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่า การร่วมมือกันดังกล่าว เพื่อให้การกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษ ไม่มีความซ้ำซ้อนกันในการลงทุน ซึ่งจะเป็นการให้ กทพ. เป็นผู้ลงทุนในโครงการแทน ทล. และ ทช. ซึ่งโครงการนำร่องที่ กทพ. จะเป็นผู้นำมาลงทุนและบริหารจัดการโครงการเบื้องต้นจะมี 5 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 18 โครงการ โดยแผนจะมีระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2565-2570
สำหรับสาเหตุที่ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการในโครงการของ ทล. และ ทช. เนื่องจากเห็นว่า บางโครงการจะติดปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะต้องดำเนินการที่สูง และนโยบายต่อไปนี้หากมีการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการ จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่ามากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ข้างทางที่มีการก่อสร้าง เช่น ที่จอดรถพักรถ หรือที่เรียกว่า Rest Area เนื่องจากว่าหากพื้นที่พัฒนามีรายได้จะสามารถนำมาช่วยลดภาระประชาชนในเรื่องของค่าบริการผ่านทางให้มีราคาถูกลงได้ นอกจากนั้น ในส่วนของรูปแบบการดำเนินโครงการให้ กทพ.พิจารณาว่าจะมีการจัดระดมตั้งกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFF) หรือรูปแบบโครงการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)
สำหรับ 5 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งเดิมกรมทางหลวง (ทล.) ได้เคยศึกษาออกแบบเป็นทางหลวงแนวใหม่สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการเป็นรูปแบบทางพิเศษเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง 2. โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 305 (ปทุมธานี-รังสิต-องครักษ์) ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ที่ ทล.ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-ปทุมธานี 3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางยกระดับศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ที่ ทล.ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นทางพิเศษ โดยให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร-สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) ระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร ที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ศึกษาและออกแบบไว้นั้น รวมทั้งได้เสนอรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการและเตรียมนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยบูรณาการร่วมกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านใต้ และให้ ทช. เป็นผู้ดำเนินโครงการถนนโครงข่ายรองที่เชื่อมต่อช่วงถนน จาก ทล.3 บรรจบ ทล.34 ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร และ 5. โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย จากอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปยังอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ
สำหรับมูลค่าโครงการที่ กทพ. MOU ร่วมกับ ทล. และ ทช. ได้แก่ 1. เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ 30,456 ล้านบาท 2. อุดรรัถยา-ปทุมธานี 38,557 ล้านบาท 3. ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 43,186 ล้านบาท 4. สามสมุทร (MR10 ด้านใต้) 96,600 ล้านบาท และ 5. สะพานเชื่อมเกาะสมุย 25,000 ล้านบาท รวม 233,799 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย