ทำเนียบฯ 7 มิ.ย.-ครม.รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของ กนง. คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2565 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและต้นทุนในหมวดอาหาร โดยปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 ในปี 2565 ส่วนปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.4
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ให้ กนง.ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศ และรายงาน ครม.เป็นรายไตรมาส โดย กนง.ระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565 กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.5 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะไม่กระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม รวมทั้งโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าระลอกก่อนหน้า
ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมาจากความผันผวนของราคาสินค้าในระยะสั้นจึงสามารถมองผ่านได้ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย กนง.จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2565 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก โดยจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566
ส่วนการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินนั้น กนง.มองว่า ด้านเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.6 ในปี 2565 และร้อยละ 3.2 ในปี 2566 ซึ่งขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์
ขณะที่ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทยนั้น ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย แต่ตึงตัวขึ้นจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำทั้งในตลาดสินเชื่อและตลาดตราสารหนี้แต่ยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง ส่วนระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากผลกระทบของโควิด-19 ค่าครองชีพ และต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งสะท้อนจากสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงควรผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ระยะยาว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยนั้น กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 ในปี 2565 ส่วนปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี2565มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 7 และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.5 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.6 ล้านคน และปี 2566 อยู่ที่ 19 ล้านคน ปรับลดลงจากประมาณการเดิม เนื่องจากนักท่องเที่ยวรัสเซียอาจไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าร้อยละ 5 ในช่วงไตรมาสที่ 2 คือเดือนเมษายน-มิถุนายน และไตรมาสที่ 3 เดือนกรกฎาคม-กันยายน ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงหลังของปี 2565 และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565 เป็นผลจากในช่วงเดียวกันของปี 2564 น้ำมันมีราคาต่ำและมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเทียบปีต่อปีสูงขึ้นแม้ว่าระดับราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก.-สำนักข่าวไทย