ทำเนียบฯ 30 พ.ค.-ครม.เห็นชอบร่างกรอบเจรจา “ความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนรอบด้านสหภาพยุโรป-ไทย”
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่30 พฤษภาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างกรอบการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Partnership and Cooperation Framework Agreement: PCA) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เพื่อให้คณะผู้แทนไทยใช้เป็นกรอบในการเจรจากับฝ่ายสหภาพยุโรป อันจะนำไปสู่การจัดทำกรอบความตกลงกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างกันในอนาคต
ร่างกรอบเจรจาฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)กำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน 2)ยกระดับความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดและครอบคลุมในทุกมิติมากขึ้น 3)ส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก 4)แสดงเจตนารมณ์ของไทยในการเป็นหุ้นส่วนของสหภาพยุโรป โดยจะดำเนินการภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ อาทิ 1)ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน และนโยบายเศรษฐกิจการคลังอื่นๆ เช่นมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ระบบอาหารที่ยั่งยืน 2)ความร่วมมือด้านเสรีภาพ ความมั่นคงและการยุติธรรมเช่น ความร่วมมือด้านนิติธรรม ความเท่าเทียมทางเพศ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว และ3)ความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความมั่นคงทางไซเบอร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
นางสาวรัชดากล่าวว่า กลไกในการติดตามภายใต้ร่างกรอบเจรจา จะขับเคลื่อนโดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม(Joint Committee) ระหว่างฝ่ายไทยกับสหภาพยุโรป เพื่อทบทวนและพิจารณาการปฏิบัติตามการตีความ ตลอดจนกลไกการระงับข้อพิพาทภายใต้ขอบเขตของกรอบความตกลงฯ ซึ่งการระงับข้อพิพาทนั้น จะกระทำตามหลักสากลตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อหาทางออกที่เห็นพ้องต้องกันภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วม
“เมื่อกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับไทยผลบังคับใช้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปอย่างมีแบบแผนในระยะยาว อันจะนำไปสู่การเจรจาความตกลงหรือพิธีสารทวิภาคีเฉพาะอื่น ๆ ระหว่างกัน เช่น ความตกลงการค้าเสรีความตกลงด้านการลงทุน และพิธีสารเกี่ยวกับความร่วมมือด้านศุลกากรด้วย แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เมื่อถึงขั้นตอนลงนามข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภาก่อน” นางสาวรัชดากล่าว.-สำนักข่าวไทย