พิษณุโลก 15 มี.ค. – รมว.เกษตรฯ เผยผลการติดตามการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งทั่วประเทศและลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานดำเนินการตามแผนที่วางไว้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ กำชับให้สำรองน้ำสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ปี 2565 พร้อมย้ำให้พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำสำรองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ตลอดจนสร้างการรับรู้ต่อประชาชนเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมติดตามการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศและลุ่มเจ้าพระยา โดยพบว่า เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2564/65 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 – 30 เม.ย. 65 ทั้งนี้นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานรายว่า จากน้ำต้นทุนทั่วประเทศในวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งเข้าสู่ฤดูแล้งมีรวม 37,857 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 จะจัดสรรรวม 22,280 ล้าน ลบ.ม. แล้วสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2565 (พ.ค. – ก.ค. 65) รวม 15,577 ล้าน ลบ.ม.
ขณะนี้เหลืออีกประมาณ 2 เดือนจะเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ของปี 65 ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กมีรวม 51,054 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% ของความจุอ่าง โดยเป็นน้ำใช้การ 26,961 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 51% ของความจุอ่าง
สำหรับลุ่มเจ้าพระยา ตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะจัดสรรน้ำรวม 7,744 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบัน ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 11,840 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 48% ของความจุอ่างและมีน้ำใช้การ 5,144 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 28% ความจุอ่าง
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า เน้นย้ำให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝนเดือน พ.ค. – ก.ค. 65 ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ให้ตรวจสอบหาพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ รวมถึงสร้างการรับรู้ต่อเกษตรกรและผู้ใช้น้ำในการร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าเนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ขณะที่ความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย