กรุงเทพฯ 11 มี.ค.-ก.พลังงาน วอนประชาชนร่วมประหยัดพลังงาน เตรียมเพิ่มสำรองน้ำมันอีก 1% ราคาเพิ่ม 60 สตางค์/ลิตร ย้ำขึ้นราคาแอลพีจี 1 บาท/กก. เริ่ม 1 เม.ย. ส่วนค่าไฟฟ้างวดใหม่ขึ้นแน่น ไม่ต่ำกว่า 16 สต./หน่วย แต่ผู้ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน จะใช้ไฟฟ้าอัตราเดิม พร้อมกัดฟันตรึงดีเซล 30 บาท เต็มกำลังเงินกู้ถึง พ.ค. หากดูไบไม่เกิน 115 ดอลลาร์/บาร์เรล เล็งช่วยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ และเพิ่มค่าก๊าซเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน
กระทรวงพลังงาน นำโดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน แถลงสถานการณ์ราคาพลังงาน และแผนรับมือ เร่งรณรงค์ทุกภาคส่วน “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงานหาร 2” หลังราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งในรอบ 14 ปี หลังเกิดวิกฤติสงครามยูเครน-รัสเซีย จนราคาน้ำมันดิบแตะ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล และดีเซลสิงคโปร์พุ่งสูงสุดเป็น 180 ดอลลาร์/บาร์เรล
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์ทุกวัน กระทรวงพลังงาน หารือ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ ว่าหากเหตุการณ์ยืดเยื้อต่อเนื่องจะมีแผนงานรับมือเพิ่มเติมอย่างไร โดยเบื้องต้น เพื่อความมั่นคงพลังงาน จะเพิ่มสำรองน้ำมันทางกฏหมายเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 1 โดยน้ำมันดิบจะเพิ่มเป็นร้อยละ 5 น้ำมันสำเร็จรูปจะเพิ่มเป็นร้อยละ 2 คาดจะมีผลอีก 1 สัปดาห์ ส่วนนี้จะทำให้มีต้นทุนสำรองเพิ่มขึ้น 2.4 หมื่นล้านบาท และจะมีผลต่อภาคประชาชนเป็นราคาน้ำมันราว 60 สตางค์/ลิตร ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 7 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพพลังงานได้ โดยไม่กระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) ก๊าซหุงต้ม ราคาปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งในขณะนี้ได้บริหารจัดการให้ดีที่สุดทุกด้าน โดยในส่วนของน้ำมันดีเซล จะพยายามตรึงราคา 30 บาท/ลิตร ให้นานที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกจะเป็นอย่างไร ในขณะที่เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาวะติดลบกว่า 2 หมื่นล้านบาท และมีกรอบเงินกู้สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของดีเซลนั้น หากราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในเกณฑ์ 115 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ก็จะดูแลได้ไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. ทางกองทุนฯ ก็ไม่สามารถดูแลได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาดูแล
ในส่วนของก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ จำเป็นต้องขยับราคาขึ้น 1 บาท/กก. หรือ 15 บาท/ถัง ขนาด 15 กก. ปรับเป็น 333 บาท/ถัง จากปัจจุบัน 318 บาท/ถัง ที่ใช้อัตรานี้มายาวนานตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ครั้งแรก เดือนมีนาคม 2563 และแต่ละเดือนกองทุนฯ ต้องอุดหนุนราว 2 พันล้านบาทต่อเดือน ซึ่งราคาแอลพีจี ต้นทุนที่แท้จริงขณะนี้อยู่ที่ 463 บาทต่อถัง
ในส่วนของค่าไฟฟ้าในขณะนี้ต้นทุนด้านเพิ่มขึ้น และยังมีผลกระทบจากช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณ ในวันที่ 23 เมษายน 2565 ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่ม ในขณะที่แอลเอ็นจี ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 40-80 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ดังนั้น รัฐบาลจึงลดภาษีน้ำมันเตา-ดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่อลดใช้แอลเอ็นจีให้ต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามต้นทุนก็ยังสูงกว่าคาดการณ์ ทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเอฟทีงวดใหม่ เริ่ม พ.ค.-ส.ค. ต้นทุนค่าเอฟทีที่แท้จริงสูงกว่าประมาณการณ์เดิมที่คาดว่างวดนี้จะขึ้น 16 สตางค์ต่อหน่วย แต่รัฐบาลมีนโยบายว่าจะเข้ามาดูแลให้ค่าไฟฟ้าขึ้นในอัตราไม่เกิน คาดการณ์ 16 สตางค์ต่อหน่วย และขณะนี้กำลังพิจารณาจะช่วยเหลือประชาชน โดยหากรายใดใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน หรือราว 1,200 บาท/เดือน กลุ่มนี้จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมในงวดเอฟทีงวดแรก (ม.ค.-เม.ย.65 )
นอกจากนี้กำลังพิจารณาจะช่วยเหลือผู้เดือดร้อน กลุ่มเปราะบางเฉพาะกลุ่ม เน้นไปที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มนี้ในส่วนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีจะได้รับวงเงินอุดหนุนสำหรับการซื้อก๊าซฯ เพิ่มจาก 45 บาทเป็น 100 บาทในช่งเวลา 3 เดือน และผู้ใช้จักรยานยนต์ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะได้รับเงินอุดหนุนสำหรับการซื้อน้ำมันกลุ่มเบนซิน โดยเงินในส่วนนี้ก็จะเป็นงบประมาณของรัฐในส่วนของงบกลางมาดูแล
“ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ราคาพลังงานแพง ยังไม่แน่ชัดว่าจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน เราจะตรึงดีเซล30 บาทให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบฯและเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และต้นทุนโดยรวมสูงขึ้นก็จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาแอลพีจี 1 บาท/กก. ค่าไฟฟ้าก็ต้องขยับขึ้น ซึ่งก็จะพยายามดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยในส่วนของกลุ่มเบนซินคงดูแลได้เฉพาะผู้ใช้มอเตอร์ไซด์ที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น ในภาวะนี้เชิญชวนทุกคนร่วมประหยัดพลังงาน และยึดหลัก”ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน””รมว.พลังงาน กล่าว
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มกระจายแหล่งการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางให้มีความหลากหลายตั้งแต่ปี 2557 (จากร้อยละ 70 ลดลงเป็นร้อยละ 57) เพื่อลดความเสี่ยงของการจัดหาน้ำมันดิบ สำหรับสถานการณ์การจัดหาน้ำมันดิบในขณะนี้ กรมธุรกิจพลังงานได้ประสานงานกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมอย่างใกล้ชิด ทุกรายได้แจ้งยืนยันว่ายังคงสามารถจัดหาน้ำมันดิบได้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 2 เดือน สำหรับความต้องการใช้น้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 123.25 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 119.88 ล้านลิตร/วัน
ปัจจุบันมีปริมาณน้ำมันดิบคงเหลือ (รวมที่อยู่ระหว่างการขนส่ง) อยู่ที่ 5,686.44 ล้านลิตร และมีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงเหลืออยู่ที่ 1,703.61 ล้านลิตร ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศได้ถึง 61 วัน นอกจากนี้ บมจ.ปตท. ยังมีมาตรการเตรียมพร้อมจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 635.94 ล้านลิตร (4 ล้านบาร์เรล) จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเป็น 66 วัน ส่งผลให้ประเทศมีน้ำมันใช้เพีปตท.ผุดแคมเปญประหยัด-จูนอัพเครื่องยนต์ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ยืนยันความพร้อมปฏิบัติภารกิจด้านการจัดการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการใช้ในประเทศอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน อย่างไรก็ตามเสถียรภาพทางพลังงานของประเทศจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงอยู่ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจประหยัดและรู้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ปตท.จึงจัดแคมเปญ “ก๊อดจิชวนใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด” สื่อสารรณรงค์ประหยัดพลังงานด้วยสื่อหลายรูปแบบในทุกช่องทาง พร้อมทั้งจัดให้มีการตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เพื่อให้เครื่องยนต์มีความสมบูรณ์ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง พร้อมด้วยโปรโมชั่นต่างๆ จนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ณ FIT Auto สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่ร่วมรายการทั่วประเทศ.-สำนักข่าวไทย