กระทรวงคลัง 8 มี.ค.- ครม.เห็นชอบ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นภาษีซื้อขายคริบโต ถึงสิ้นปี 66 ยกเว้นภาษีการระดมทุนใน Startup ไทย คาดมีเงินลงทุนเพิ่ม 3.2 แสนล้านบาท และขยายเวลาลดอากรนำเข้าสินค้าจำเป็นวินิจฉัยรักษาโควิด-19
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยที่ประชุม ครม.เห็นชอบ มาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต และการโอนสกุลเงินดิจิทัล ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งอนุญาตให้หักผลขาดทุน ออกจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาด Exchange ได้ เพื่อนำมาคำนวณรายได้ภาษีบุคคลธรรมดา ของนักลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินในอนาคต สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล มูลค่าทรัพย์สินดิจิทัลเพิ่มจาก 9,600 ล้านบาทในปี 61 เพิ่มเป็น 114,000 ล้านบาทในปี 64 ยอดนักลงทุนเพิ่มจาก 1.7 แสนคน เพิ่มเป็น 1.98 ล้านคน นับว่าตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กฎหมาย 2 ฉบับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchange และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในส่วนกำไร เพื่อช่วยให้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนที่เกิดขึ้นใน Exchange ของประเทศไทย มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการใช้เงินดิจิทัลในอนาคต
ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบ มาตรการยกเว้นภาษีการระดมทุนใน Startup ไทยผ่าน Venture Capital ไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนโดยอ้อมผ่าน Venture Capital โดยความร่วมมือกันระหว่าง กรมสรรพากรกับสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนทั้งและต่างประเทศ สำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน Startup การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ CVC ทั้งไทยและต่างประเทศ และ PE Trust
กรมสรรพากร กำหนดให้ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการขายหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ สำหรับ CVC ไทยและ PE Trust ไทยต้องมีทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท และจดแจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575 ระยะเวลา 10 ปี จากมาตรการภาษีครั้งนี้ ทำให้ภายในปี 2569 จะมีเงินลงทุนใน Startup ไทยเพิ่มขึ้น 3.2 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการ Startup และประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย”
ที่ประชุม ครม. ยังได้ขยายระยะเวลายกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่มีความจำเป็น เพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโควิด-19 การยกเว้นอากรสำหรับสินค้าหน้ากากอนามัย สินค้าสำหรับการนำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากากอนามัย เริ่มการให้สิทธิมาตั้งแต่ มีนาคม 2563 ถึง 31 มีนาคม 2565 จึงได้ขยายระยะเวลาถึง 30 กันยายน 2566 จากเดิมจัดเก็บอากรอยู่ระหว่าง 5 – 20% เพื่อรองรับความต้องการใช้ของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ .-สำนักข่าวไทย