กรุงเทพฯ 4 มี.ค.-คมนาคม-รถไฟฯ เฮ! ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-83/2565 กลับคำสั่งศาลปกครองกลาง และให้รับคำขอให้พิจารณาคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท ไว้พิจารณาใหม่ ต่อลมหายใจภาครัฐสู้คดีต่อ ยังไม่ต้องจ่ายค่าโง่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าเวลาประมาณ 13.30 น. ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-83/2565 โดยมีมติกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น กรณีให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จ่ายค่าชดเชยค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทานให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำนวน 24,000 ล้านบาท เป็นให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
สำหรับแนวทางการต่อสู้คดีในอนาคตของกระทรวงคมนาคม โดย รฟท.นั้น จะนำประเด็นต่อสู้ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของอายุความ หรือการนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี, และประเด็นมติคณะรัฐมนตรี, รวมถึงประเด็นการจดทะเบียนของบริษัท ที่มีวัตุประสงค์ของบริษัทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้นยังมีประเด็นบริษัทที่มาลงนามกับภาครัฐ ไม่ได้เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่า โดยคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดวันนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ภาครัฐได้ต่อสู้คดีใหม่ แต่ทั้งนี้ก็ไม่จบสิ้นกระบวการยุติธรรมทั้งหมด
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังรับทราบคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ยืนยันว่าการรถไฟมีความพร้อมในเรื่องทีมกฎหมาย ที่จะรื้อฟื้นคดีโฮปเวลล์กลับมาต่อสู้อีกครั้ง โดยส่วนตัวมีความมั่นใจในแนวทางการต่อสู้คดี ตามข้อมูลหลักฐานที่เตรียมไว้
“ถือว่าคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ ในส่วนของภาครัฐถือว่าเปิดโอกาสให้มีทางเดินอีกครั้ง ส่วนในอนาคตคดีนี้ภาครัฐจะกลับมาชนะคดีหรือไม่ก็จะขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาลในอนาคต“นายนิรุฒ กล่าว
สำหรับรายละเอียด ของคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดีคำร้องที่ 394- 396/2564 ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน อันเป็นคดีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ไว้ โดยอ้างว่า การนับระยะเวลาหรืออายุความในการยื่นข้อเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ไปถึงบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ
ซึ่งกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เห็นว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวอ้างเข้าหลักเกณฑ์และองค์ประกอบการพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75(1) (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้ว่าที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเคยมีมติในคราวประชุมใหญ่ ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ว่า “ในกรณีที่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในขณะนั้น ต่อมา หลังจากที่ศาลปกครองเปิดทำการ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยขณะที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง อายุความฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมยังไม่ครบกำหนด แต่การนำคดีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครองนั้น จะเป็นการฟ้องคดีปกครองเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 มาตรา 50 หรือมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้วแต่กรณี
ในกรณีเช่นนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการเป็นต้นไป” ก็ตาม และต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีนี้ โดยวินิจฉัยว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้ว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม เมื่อสัญญาระหว่างคู่พิพาทไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงกระทำได้ภายในอายุความการฟ้องคดีต่อศาล เมื่อข้อพิพาทได้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลปกครองเปิดทำการ การนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 อันเป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาโดยชอบแล้ว
จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาโดยอาศัยข้อกฎหมายกรณีการเริ่มนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ได้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 แม้ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถึงมติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวโดยตรง แต่ก็เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตามที่กำหนดในมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มติของที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ฯ เกี่ยวกับการเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ
ดังนั้น การที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษา โดยเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตามแนวทางที่กำหนดโดยมติที่ประชุมใหญ่ฯ แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงชอบที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้
แม้ว่ามาตรา 212 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะบัญญัติไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว เว้นแต่ในคดีอาญา ให้ถือว่าผู้ซึ่งเคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยมาตรา 5 นั้น เป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิดดังกล่าว หรือถ้าผู้นั้นยังรับโทษอยู่ก็ให้ปล่อยตัวไป
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ไว้พิจารณา.-สำนักข่าวไทย