กรุงเทพฯ 3 มี.ค.- ประธานส.อ.ท. เผยผลสำรวจหัวข้อ “ปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซ กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน” โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า กรณีภาครัฐจะพิจารณาปรับอัตราค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ ขึ้นต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซ กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า กรณีภาครัฐจะมีการพิจารณาปรับอัตราค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซได้แก่ NG / NGV / LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ขนส่ง และภาคครัวเรือนขึ้นต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้ จนทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นจะต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาคงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะให้ภาคอุตสาหกรรมเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน และหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานอุตสาหกรรม
จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) 150 คน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 15 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้
1. ปัจจุบันค่าไฟฟ้าและพลังงานคิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิต
อันดับที่ 1 : ผู้บริหาร 38.7% ระบุว่า 10 – 20%
อันดับที่ 2 : ผู้บริหาร 25.3% ระบุว่า น้อยกว่า 10%
อันดับที่ 3 : ผู้บริหาร 20.7% ระบุว่า 20 – 30%
อันดับที่ 4 : ผู้บริหาร 15.3% ระบุว่า มากกว่า 30%
2. กรณีภาครัฐมีการปรับค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ ขึ้นต่อเนื่อง จะกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับใด
อันดับที่ 1 : ผู้บริหาร 56.7% ระบุว่า มาก
อันดับที่ 2 : ผู้บริหาร 34.7% ระบุว่า ปานกลาง
อันดับที่ 3 : ผู้บริหาร 8.6% ระบุว่า น้อย
3. ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ ในเรื่องใด ที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ
อันดับที่ 1 : ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนพลังงานที่อยู่ระดับสูง 87.3%
อันดับที่ 2 : ภาระค่าครองชีพของประชาชน 82.0%
อันดับที่ 3 : เร่งอัตราเงินเฟ้อให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 51.3%
อันดับที่ 4 : กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหยุดชะงัก 41.3%
4. มาตรการใดมีประสิทธิภาพในการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและภาคธุรกิจ จากค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น
อันดับที่ 1 : มาตรการคงอัตราค่า Ft รอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 คิดเป็น 80.7%
อันดับที่ 2 : มาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) โดยคืนผลประหยัดไฟฟ้าที่ลดได้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 59.3%
อันดับที่ 3 : มาตรการตรึงราคาขายปลีกก๊าซฯ ชั่วคราว คิดเป็น 53.3%
อันดับที่ 4 : มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มในส่วนของผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการ SME เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า, คูปองส่วนลดราคาก๊าซฯ คิดเป็น 52.7%
5. ภาคอุตสาหกรรมควรเตรียมรับมือผลกระทบจากค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร
อันดับที่ 1 : ปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อประหยัดพลังงาน 82.0%
อันดับที่ 2 : การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานเช่น Solar cell 76.0%
อันดับที่ 3 : นำระบบการบริหารจัดการพลังงานมาใช้และปรับแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุน 64.7%
อันดับที่ 4 : บำรุงรักษาและปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร 53.3%
6. แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมจะมีการใช้ไฟฟ้าและพลังงาน ปี 2565 อย่างไร
อันดับที่ 1 : ผู้บริหาร 77.3% ระบุว่า เพิ่มขึ้นจากปี 2564
อันดับที่ 2 : ผู้บริหาร 20.7% ระบุว่า ทรงตัว
อันดับที่ 3 : ผู้บริหาร 2.0% ระบุว่า ลดลงจากปี 2564 .-สำนักข่าวไทย